imgArticle-08

เคเบิลท้องถิ่นจะรอดได้อย่างไร

ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่เคเบิลท้องถิ่นได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวีโดยถูกต้องตามกฎหมาย15 ปี จาก กสทช. ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นต้องประสบภาวะเหนื่อยยากในการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นมาก เพราะนอกจากจะมีต้นทุนสูงขึ้นแล้ว คู่แข่งก็เพิ่มขึ้นมาก จนยากที่จะแข่งขันด้วยได้ จนเป็นที่มาของการปิดกิจการหรือขายกิจการของเคเบิลท้องถิ่นหลายราย และหากไม่สามารถหาทางออกได้ เหตุการณ์นี้จะเป็นโดมิโน ต่อไปเรื่อยๆ

คนไทยดูทีวีกันอย่างไร

ปัจจุบันคนไทยมีทางเลือกในการรับชมทีวีหลายช่องทางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1) รับชมทีวีโดยไม่เสียค่าบริการรายเดือน (Free TV)

คนไทยมีวิธีในการรับชมได้จาก 4 ระบบโดยมีช่องรายการให้รับชมได้ตั้งแต่ 6-200 ช่อง โดยเสียค่าติดตั้งครั้งเดียวในราคา 690 - 3,500 บาท สามารถรับชมได้ทั้งระบบ Analog ระบบดิจิตอล SD ระบบดิจิตอล HD ประกอบด้วย

  • 1.1) ปีกเสาก้างปลาในระบบ Analog เช่น เสาสามารถ
  • 1.2) ปีกเสาก้างปลาในระบบ Digital ของ กสทช. เช่น ดิจิตอลทีวีของ กสทช. ที่ได้รับแจกคูปอง 690 บาท
  • 1.3) จานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ C-Band เช่น PSI , Infosat , Leotech , Thaisat , Dynasat เป็นต้น
  • 1.4) จานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ Ku-Band เช่น จานแดง , IPM , PSI OK , GMMZ , SunBox เป็นต้น

2) รับชมทีวีโดยเสียค่าบริการรายเดือน (Pay TV)

สามารถรับชมได้จาก 4 ระบบโดยเสียค่าบริการรายเดือนตั้งแต้ 300-2,000 บาท/เดือน ประกอบด้วย

  • 2.1) เคเบิลท้องถิ่นในระบบ Analog เช่น เคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลาง ตามอำเภอต่างๆ
  • 2.2) เคเบิลท้องถิ่นในระบบ Digital เช่น เคเบิลท้องถิ่นขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ตามอำเภอเมือง
  • 2.3) เคเบิลทีวีระดับชาติ ในระบบ Digital HD เช่น True Vision และ CTH
  • 2.4) IPTV ถูกกฎหมาย และ ผิดกฎหมาย ในระบบ Digital HD เช่น METV , ZIPTV เป็นต้น

วิธีเลือกช่องทางในการดูทีวี

หากมองจากภาพใหญ่ดังกล่าว จะเห็นว่าคนไทยมีทางเลือกในการรับชมทีวีหลายช่องทางมาก และในทุกช่องทางที่ยกขึ้นมา ประชาชนจะมีขั้นตอนในการเลือกรับชมทีวีดังนี้

  • 1) เงินในกระเป๋ามีเท่าไร
  • 2) เสียค่าบริการรายเดือนหรือไม่
  • 3) มีช่องรายการอะไรให้รับชม
  • 4) ภาพชัดหรือไม่

ด้วยวิธีการเลือกช่องทางในการรับชมทีวีเช่นนี้ สิ่งแรกที่มองเห็นคือ

  • 1) หากไม่มีเงิน หรือไม่อยากเสียเงินเพิ่มเติม คงต้องเลือก ดิจิตอลทีวีของ กสทช. เพราะมีคูปอง 690 บาท
  • 2) หากมีเงินอยู่บ้าง บ้านมีพื้นที่เล็ก ต้องการรับชมช่องรายการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น และไม่อยากเสียค่าบริการรายเดือน คงต้องเลือกติดจานดาวเทียมระบบ Ku-Band
  • 3) หากมีเงินอยู่บ้าง บ้านมีพื้นที่ใหญ่ ต้องการรับชมช่องรายการที่หลากหลายจากต่างประเทศด้วย ไม่รำคาญกับฝนตก และไม่อยากเสียค่าบริการรายเดือน คงต้องเลือกติดตั้งจานดาวเทียมระบบ C-Band
  • 4) หากมีเงินอยู่บ้าง ยินดีเสียค่าบริการรายเดือนไม่เกิน 350 บาท/เดือน หากมีช่องรายการที่มีคุณภาพให้รับชมเพิ่มเติมเป็นพิเศษ หากอยู่ในพื้นที่ที่สามารถให้บริการได้ คงเลือกรับชมเคเบิลท้องถิ่นในระบบ Digital แต่หากอยู่นอกพื้นที่ให้บริการคงต้องติดตั้งกับเคเบิลทีวีระดับชาติในระบบจานดาวเทียม
  • 5) หากมีเงินมาก ยินดีเสียค่าบริการรายเดือน 500-2,000 บาท/เดือน มีช่องรายการพิเศษที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศให้บริการ คงต้องเลือกติดจานดาวเทียมจากเคเบิลทีวีระดับชาติ
  • 6) หากมีเงินไม่มาก แต่ต้องการรับชมช่องรายการที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ยินดีเสียค่าบริการไม่เกิน 300 บาท/เดือน ไม่สนใจว่าจะได้มาโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ต้องติดตั้ง IPTV ที่มีการเปิดให้บริการอยู่ทั่วไป

คนขายมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของประชาชน

เมื่อดูวิธีการเลือกรับชมทีวีของคนไทย คงต้องบอกว่า ตลาดการรับชมทีวีของคนไทย มีการแข่งขันกันสมบูรณ์ ไม่มีใครสามารถผูกขาดการเป็นเจ้าตลาดแต่เพียงผู้เดียวได้ ประชาชนมีอิสระในการเลือกรับบริการติดตั้งระบบทีวีได้หลากหลายช่องทาง จนบางครั้งรู้สึกว่าจะมากเกินไป จนไม่สามารถจะเลือกหรือเข้าใจได้ว่า ควรจะติดตั้งแบบใด จึงจะเหมาะสมหรือตรงตามความต้องการจริงๆ สุดท้ายประชาชนก็ต้องถามคนขายว่า เขาควรติดตั้งระบบใด หากได้คนขายที่ดีก็จะสามารถเลือกระบบที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้ แต่ถ้าได้พนักงานขายที่ไม่สุจริต ลูกค้าก็จะได้ติดตั้งระบบทีวีที่ให้ผลตอบแทนกับคนขายสูงสุด คงพอจะเดาได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ

ระบบ Analog จะไปไม่รอด

จากช่องทางเลือกและแนวทางในการเลือกรับชมระบบทีวีต่างๆ จะเห็นได้ว่า คงจะไม่มีใครยอมดูทีวีในระบบ Analog ที่มีสัญญาณภาพไม่คมชัดอีกต่อไป ดังนั้นการรับชมทีวีจาก ปีกเสาก้างปลาในระบบ Analog 6 ช่อง และ การรับชมจากเคเบิลท้องถิ่นในระบบ Analog 60-90 ช่องน่าจะต้องหมดไปในอนาคตอันไม่ไกลนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในวันนี้คือ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในประเทศไทยมีประมาณ 300 ราย แบ่งออกเป็น ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก ประมาณ 150 ราย ขนาดกลาง ประมาณ 100 ราย ขนาดใหญ่ ประมาณ 40 ราย และขนาดใหญ่พิเศษ ประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่มีการให้บริการในระบบ Analog เพียงระบบเดียวโดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลาง จะมีเพียงเคเบิลท้องถิ่นขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษเท่านั้นที่มีการให้บริการทั้งในระบบ Analog และระบบ Digital

เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กจะตายก่อน

คำถามที่สำคัญคือ เคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็ก ประมาณ 150 ราย และขนาดกลาง ประมาณ 100 รายจะประกอบกิจการต่อไปได้อย่างไร จากข้อมูลที่พบในปัจจุบัน จะเห็นว่า ไม่มีสมาชิกมาขอติดตั้งเพิ่ม จะมีก็แต่สมาชิกยกเลิกไปติดตั้งกับระบบอื่น หากยังคงให้บริการสัญญาณในระบบ Analog ที่สัญญาณภาพมีความคมชัดสู้ระบบดิจิตอลทั้งแบบ SD และ HD ไม่ได้ จากข้อมูลในปี 2557 มีเคเบิลท้องถิ่นปิดกิจการไปมากกว่า 20 ราย และอีกกว่า 30 รายได้ขายกิจการออกไป เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน และไม่มีเงินทุนในการปรับปรุงระบบการให้บริการ ส่วนในปี 2558 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง น่าจะมีเคเบิลท้องถิ่นปิดกิจการอีกมากกว่า 30 ราย และพร้อมขายกิจการมากกว่า 70 ราย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เคเบิลท้องถิ่นต้องต่อสู้ในตลาดโดยลำพัง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จาก กสทช. ทั้งๆ ที่เป็นผู้ประกอบกิจการระดับท้องถิ่น ที่ต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดของผู้ให้บริการระดับชาติ ทั้งแบบเสียค่าบริการรายเดือนและไม่เสียค่าบริการรายเดือน ที่สำคัญผู้ให้บริการระดับชาติโดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก กสทช. ทั้งๆที่เป็นผู้ให้บริการระดับชาติและมีเงินทุนสูงในการประกอบกิจการ

เคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่จะตายตาม

ในปี 2558 เป็นปีที่สำคัญของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น เพราะหากไม่มีการดำเนินการสนับสนุนใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง เคเบิลท้องถิ่นจะต้องค่อยๆหมดไปจากรายขนาดเล็กต้องตายก่อน รายขนาดกลางจะตายตาม และสุดท้ายรายใหญ่ (ระดับท้องถิ่น) ก็จะต้องตายตามไปด้วย สุดท้ายประเทศไทยจะไม่มีเคเบิลท้องถิ่น จะมีแต่เคเบิลทีวีระดับชาติของผู้ประกอบกิจการที่มีเงินทุนสูงเท่านั้น

ทางรอดของเคเบิลท้องถิ่น

1) เปิดให้บริการในระบบ Digital

ปัจจุบันมีเคเบิลท้องถิ่นกว่า 250 รายที่ยังคงเปิดให้บริการในระบบ Analog เพียงระบบเดียว ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ในระยะยาว เคเบิลท้องถิ่นต้องปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการเป็นระบบ Digital จึงจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ แม้ว่าในระยะสั้นจะสามารถทำต่อไปได้ แต่ในระยะยาวไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการจากระบบ Analog เป็นระบบ Digital จะต้องปรับเปลี่ยนใน 3 ส่วนคือ

1.1) เปลี่ยนระบบห้องส่งเป็นระบบ Digital

ในที่นี้เคเบิลท้องถิ่นมีช่องทางในการเลือก 2 ระบบคือ ทำระบบ Digital DVB-C หรือทำระบบ Digital DVB-T ซึ่งทั้ง 2 ระบบจะใช้เงินทุนในการติดตั้งประมาณ 500,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพของระบบที่เลือกใช้ ประเด็นที่สำคัญคือ หากเลือกใช้ระบบ DVB-C จะต้องใช้กล่องรับสัญญาณระบบ DVB-C ด้วย ต้องลงทุนค่ากล่องรับสัญญาณในระบบ SD ราคา 800 บาท/กล่อง หรือในระบบ HD ราคา 1,200 บาท/กล่อง แต่ถ้าเลือกใช้ระบบ DVB-T จะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณระบบ HD ที่ กสทช. แจกคูปอง 690 บาทให้กับประชาชน นำมาต่อกับสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นก็สามารถรับชมในระบบ Digital ได้

ห้องส่งระบบ DVB-T คือทางออก

ในเรื่องนี้ มีหลายคนไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้ แต่ขอยืนยันว่า ห้องส่งระบบ DVB-T สามารถทำได้จริงๆ เพราะมีการเปิดให้บริการจริงๆแล้ว และมีสัญญาณภาพที่คมชัด เหมือนการติดตั้งเสาก้างปลา สามารถรับชมช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช. ได้ครบทุกช่อง และสามารถเพิ่มช่องรายการที่มีคุณภาพของเคเบิลท้องถิ่นเข้าไปในกล่องทีวีดิจิตอลได้เพิ่มขึ้นนับร้อยช่อง ตามแต่การจัดสรรความถี่ และงบประมาณการลงทุนในห้องส่งระบบ Digital DVB-T นอกจากนี้ หากประชาชนไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ในปัจจุบันตามห้างสรรพสินค้า มีแต่เครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลขาย) จะสามารถเอาสายเคเบิลทีวีไปต่อกับเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลได้โดยตรง (ไม่ต้องใช้กล่องรับสัญญาณ DVB-T2 ของ กสทช.) ก็สามารถรับชมช่องรายการได้ทั้งหมด ทั้งระบบ SD และ HD ตามที่สถานีส่งมา ที่สำคัญสัญญาณภาพที่รับได้มีความคมชัดกว่าการรับชมในระบบจานดาวเทียมมาก เพราะเป็นระบบ HD จริงๆ ไม่ใช่ HD ปลอมๆ อย่างที่ระบบดาวเทียม ที่ให้บริการแบบไม่เสียค่าบริการรายเดือน หรือเคเบิลทีวีรายใหญ่ระดับชาติเปิดให้บริการกับประชาชนในทุกวันนี้

ผู้ที่ลงทุนระบบ DVB-C เหนื่อย

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ยังไม่ได้ลงทุนระบบ Digital ความช้าอาจเป็นประโยชน์เพราะ เคเบิลท้องถิ่นที่ลงทุนทำระบบ Digital ไปก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระบบ DVB-C ไปแล้ว ต้องซื้อกล่องรับสัญญาณ DVB-C มาแจกให้กับสมาชิก หรือให้สมาชิกจ่ายเงินมัดจำค่ากล่องรับสัญญาณ หรือให้สมาชิกจ่ายเงินซื้อกล่องรับสัญญาณ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการใด ก็ต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มเติมมากน้อยตามแต่วิธีการเลือกใช้ โดยไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนเพิ่มขึ้นได้ ทำได้เพียงป้องกันไม่ให้สมาชิกยกเลิกเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่สามารถลงทุนเช่นนี้ได้

สิ่งที่สามารถแนะนำได้ในเวลานี้คือ ควรเปลี่ยนห้องส่งมาใช้ระบบ Digital DVB-T ในที่นี้หมายถึง DVB-T ไม่ใช่ DVB-T2 เพราะห้องส่งสัญญาณ ระบบ DVB-T2 มีราคาสูงกว่าระบบ DVB-T ประมาณ 5 เท่า ซึ่งกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 ของ กสทช. ที่ใช้คูปอง 690 บาทแลกซื้อได้ เกือบทั้งหมดเลือกใช้ระบบ DVB-T/T2 จึงสามารถนำมาใช้กับห้องส่งระบบ DVB-T ได้ นี่คงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กหรือขนาดกลางพอที่จะลงทุนได้ และเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในการหาทางออกในภาวะวิกฤตเช่นนี้

1.2) ปรับเปลี่ยนโครงข่ายสายเคเบิลเพื่อให้รองรับระบบ Digital

หากระบบโครงข่ายสายเคเบิลทีวีที่ให้บริการเดิมเป็นระบบ Analog เมื่อเปลี่ยนมาให้บริการระบบ Digital อาจต้องปรับปรุงระบบโครงข่ายสายเคเบิลบ้าง หากเลือกใช้ระบบ DVB-C อาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 30% ของโครงข่ายสายที่ได้ลงทุนไปแล้ว แต่หากเลือกใช้ระบบ DVB-T จะใช้เงินลงทุนประมาณ 20% ทั้งนี้เพราะการให้บริการระบบ DVB-T มีความสามารถในการทะลุทะลวงได้ดีกว่าระบบ DVB-C ซึ่งเป็นข้อสนับสนุน ในการเปลี่ยนมาใช้ห้องส่งระบบ DVB-T อีกข้อหนึ่งด้วย และหากโครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นรายใดที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี อาจไม่ต้องปรับปรุงโครงข่ายสายเลยก็ได้ ซึ่งต้องทดสอบสัญญาณของแต่ละรายเอง

1.3) ลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box)

การลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ระบบ Digital โดยเฉพาะผู้ที่เลือกลงทุนระบบ DVB-C ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเคเบิลท้องถิ่น เพราะหากต้องลงทุนกล่องรับสัญญาณกล่องละ 800-1,200 บาท และให้สมาชิกจ่ายค่ากล่องรับสัญญาณดังกล่าว สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ยอมจ่ายค่ากล่องรับสัญญาณ เท่าที่เคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่ที่ทำระบบ Digital DVB-C ไปแล้วเกือบทั้งหมด ต้องให้สมาชิกยืมใช้ฟรี มีน้อยมากที่สมาชิกจะยอมจ่ายค่ากล่องรับสัญญาณ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับ เคเบิลท้องถิ่นต้องมีเงินทุนอีกก้อน (ก้อนใหญ่) ในการซื้อกล่องรับสัญญาณ Digital มาให้บริการกับสมาชิก

ใช้กล่องรับสัญญาณ ทีวีดิจิตอล กับสายเคเบิลทีวีได้

แต่หากเลือกใช้ห้องส่งระบบ DVB-T สมาชิกที่ได้คูปอง 690 บาทจาก กสทช. ก็จะสามารถนำคูปองไปแลกแล้วเอากล่อง DVB-T2 มาต่อกับสายเคเบิลทีวีได้ ทำให้เคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณมาแจกสมาชิก และหากสมาชิกต้องการติดตั้งกล่องรับสัญญาณเพิ่มเติมในจุดที่ 2,3 ก็สามารถไปหาซื้อกล่อง DVB-T2 ตามท้องตลาดมาต่อสายเคเบิลเองได้ในราคาไม่เกิน 690 บาท และในอนาคตเชื่อว่าราคาจะลดลงมาเหลือไม่เกิน 500 บาท รับประกัน 2 ปี และเป็นระบบ HD ด้วย การทำเช่นนี้จึงเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสของเคเบิลท้องถิ่นโดยแท้

หากเคเบิลท้องถิ่นทำตามที่ได้ให้คำแนะนำ อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเป็นการสนับสนุนให้เคเบิลท้องถิ่นเปลี่ยนระบบการให้บริการจากระบบ Analog เป็นระบบ Digital. แต่เป็นระบบ Digital DVB-T ไม่ใช่ระบบ DVB-C อย่างที่ทุกคนเข้าใจ อย่างไรก็ตามระบบ DVB-T ไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียว มีข้อเสียด้วยคือไม่สามารถ Lock สัญญาณได้ ทำให้ไม่สามารถทำเป็น Package A หรือ Package B หรือให้บริการช่องรายการเพิ่มเติมโดยจะเก็บค่าบริการเพิ่มไม่ได้ เพราะระบบ DVB-T ในปัจจุบันไม่มีใครใส่ระบบ Encryption ซึ่งระบบ DVB-C จะมีระบบ Encryption ด้วย เคเบิลท้องถิ่นจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ระบบใด และมีเป้าหมายในอนาคตไว้อย่างไร

2) ลิขสิทธิ์ช่องรายการ

เคเบิลท้องถิ่นที่สามารถอยู่ได้ในทุกวันนี้ แม้จะให้บริการในระบบ Analog ก็เพราะมีช่องรายการพิเศษ ดีๆให้สมาชิกได้รับชม ส่วนการได้มาของช่องรายการพิเศษ อาจได้มาจากทั้งการซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการโดยถูกต้อง หรือการใช้ช่องทางพิเศษ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากเคเบิลท้องถิ่นต้องการประกอบกิจการในระยะยาว จำเป็นต้องให้บริการทุกอย่างโดยถูกต้องและโปร่งใส แต่เท่าที่ผ่านมา ช่องรายการลิขสิทธิ์ต่างๆจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างถูกผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายใหญ่ระดับประเทศเช่น True Vision และ CTH ต่างใช้เงินทุนที่สูงแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการผูกขาดแต่ผู้เดียวในประเทศไทย หรือหากไม่ซื้อผูกขาด เจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตั้งราคาขายลิขสิทธิ์ที่สูงจนเคเบิลท้องถิ่นไม่สามารถซื้อมาได้ สุดท้ายเพื่อความอยู่รอด เคเบิลท้องถิ่นก็ถูกบังคับให้ใช้ช่องทางพิเศษ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีใครอยากทำ แต่หากไม่ทำก็ต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน

กสทช. ต้องออกกฎ Wholesale Must Offer

ทางออกของปัญหานี้ก็คือ กสทช. ควรออกกฎเหมือนกฎ Must Carry หรือ กฎ Must Have แต่ในกรณีนี้คือกฎ Wholesale Must Offer กล่าวคือ การกำหนดให้กลุ่มประเภทช่องรายการบางกลุ่มที่ผู้ให้บริการรายใดซื้อลิขสิทธิ์มาได้ จะต้องแบ่งขายให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในราคาที่เป็นธรรมด้วย ซึ่งในต่างประเทศ มีการออกกติกาเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ให้บริการเฉพาะประชาชนที่มีรายได้สูง สามารถจ่ายค่าบริการรายเดือนสูงๆเท่านั้นจึงจะสามารถรับชมรายการได้ เหมือนกรณีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค.ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง แต่ถ้าประชาชนคนใดต้องการบริการที่มากกว่าบริการรักษาพยาบาลพื้นฐาน เช่นต้องการเตียงพิเศษ ต้องการยาชนิดพิเศษ ก็ต้องจ่ายเพิ่มเติมนั้นเอง

การออกกฎ Wholesale Must Offer จึงเป็นความจำเป็นที่ กสทช. จะต้องรีบออกกฎดังกล่าวออกมาเพื่อให้เคเบิลท้องถิ่นสามารถซื้อช่องลิขสิทธิ์รายการมาให้บริการกับสมาชิกได้ในราคาที่เหมาะสม หากไม่ออกมาจะทำให้เคเบิลท้องถิ่นไม่มีช่องรายการลิขสิทธิ์มาให้บริการกับสมาชิก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปหาช่องทางพิเศษในการหาช่องรายการมาให้บริการกับสมาชิกอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเหมือนในอดีต

3) ต้นทุนการประกอบกิจการ

นอกจากการลงทุนประกอบกิจการตามปกติแล้ว เคเบิลท้องถิ่นยังต้องเสียค่าบริการพาดสายบนเสาไฟฟ้า เงิน 2%+ 2% ที่ต้องจ่ายให้ กสทช. เงินค่าแบ่งประโยชน์ให้เจ้าของสถานที่ที่เข้าไปให้บริการ ประเด็นต่างๆเหล่านี้ คงต้องเป็นหน้าที่ของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ในการไปต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

4) เงินทุนในการปรับปรุงกิจการ

ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย ต้องการประกอบกิจการต่อไป และพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติมหากได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เช่นการขอวงเงินกู้จาก SME Bank ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท/ราย ซึ่งในเรื่องนี้ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ CTH ได้ร่วมกันเจรจากับ SME Bank เพื่อขอวงเงินกู้ให้กับเคเบิลท้องถิ่นแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพอสำหรับเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลาง จะสามารถนำเงินมาปรับปรุงกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้นมาได้

5) การรวมโครงข่าย

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่มีพื้นที่ให้บริการทับซ้อนกัน หรือใกล้กัน สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ควรเป็นหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ผู้ประกอบกิจการได้มีการเจรจาเพื่อรวมโครงข่ายกันด้วยความยุติธรรม เพราะการรวมโครงข่ายกันได้จะทำให้ต้นทุนในการประกอบกิจการลดลงกว่า 30% และไม่ต้องลงทุนเดินสายทับซ้อนเพื่อแข่งขันกัน เพราะลำพังที่ต้องแข่งกับทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอลของ กสทช. ก็หนักอยู่แล้ว ดังนั้นเคเบิลท้องถิ่นไม่ควรแข่งกันเอง

สำหรับเคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่ ก็ควรเปิดโอกาสให้เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กได้รวมโครงข่ายด้วย โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กด้วย ซึ่งมีวิธีการหลายวิธีในการจะรวมโครงข่ายกัน เช่น การขายกิจการ การซื้อสัญญาณไปให้บริการเอง หรือการเปิดโอกาสให้รายใหญ่เข้าไปช่วยบริหารกิจการให้โดยแบ่งผลตอบแทนกันในอัตราที่เป็นธรรม เป็นต้น

เคเบิลท้องถิ่นต้องรวมโครงข่ายกัน

การรวมโครงข่ายเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เคเบิลท้องถิ่นต้องทำ เพราะการมีผู้ให้บริการรายเล็ก จะไม่สามารถมีเงินทุนมาปรับปรุงคุณภาพสัญญาณ คุณภาพการให้บริการ หรือการให้บริการเสริมอื่นๆได้ ซึ่งในอดีตหากคุยเรื่องนี้จะไม่มีใครยอมคุยด้วยเพราะทุกคนอยากมีอิสระในการบริหารกิจการของตนเอง แต่ในภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นนี้ และเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แนวคิดก็ควรจะเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งในต่างประเทศเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะโดยวิธีการใด สุดท้ายเคเบิลท้องถิ่นก็ต้องมีการรวมตัวกัน จากที่มีผู้ประกอบกิจการ 500 รายต้องควบรวมกันลดลงมาเหลือ 300 ราย 100 ราย และ 50 ราย ซึ่งการลดลงของผู้ประกอบกิจการไม่ได้หมายความว่าจะมีผู้ต้องการเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นลดลง เพียงแต่ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กที่เป็นอิสระจะลดลงโดยการไปรวมกับรายใหญ่ ซึ่งฐานสมาชิกจะไม่ลดลง การมีผู้ประกอบกิจการน้อยลง แต่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้เคเบิลท้องถิ่นมีความเข้มแข็งขึ้น และสามารถยืนหยัดต่อสู้กับผู้ให้บริการประเภทอื่นๆได้ เหมือนเคเบิลท้องถิ่นในต่างประเทศที่มีความเข้มแข็งขึ้นทุกวัน

6) การทำข่าวท้องถิ่น

การความจำเป็นที่เคเบิลท้องถิ่นต้องมีการทำข่าวท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่น แต่การทำข่าวต้องใช้เงินทุนที่สูงมากและในอดีตการทำข่าวท้องถิ่นไม่สามารถหางบประมาณค่าโฆษณาจาก Agency ได้ เพราะขนาดของกิจการยังไม่ใหญ่พอ การรวมโครงข่ายเป็นเคเบิลทีวีระบบจังหวัด ระดับภูมิภาค จะทำให้สามารถหาโฆษณาได้. หากไม่มีการรวมโครงข่ายเข้าด้วยกัน ยากมากที่ช่องข่าวท้องถิ่นจะได้รับการสนับสนุนงบโฆษณาจาก Agency ระดับประเทศ นอกจากหาเงินโฆษณาจาก อาเจ็ก อาแปะข้างบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาขอใช้บริการฟรีกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นคนกันเองทั้งนั้น

7) การจัดเรียงช่อง

หากเคเบิลท้องถิ่นทุกรายหรือส่วนใหญ่ไม่ทำการจักเรียงช่องให้เหมือนกัน หรืออย่างน้อย 10-15 ช่องแรกควรจัดเรียงช่องให้เหมือนกัน จะทำให้ช่องรายการที่มีเลขช่องเหมือนกันในเคเบิลท้องถิ่นสามารถเอาไปโฆษณาได้ ซึ่งจะทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถมีเงินมาจ่ายค่าสนับสนุนการจัดเรียงช่อง หรือเป็นเงินสนับสนุนการลงทุนเหมือน ดาวเทียมคิดค่า Transponder หรือ ทีวีดิจิตอลที่ต้องจ่ายค่า MUX ไม่ใช้มาเผยแพร่ในเคเบิลทีวีโดยไม่ช่วยออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งๆที่สามารถเอาฐานสมาชิกเคเบิลไปหาโฆษณาได้ ซึ่งเรื่องนี้หากเคเบิลท้องถิ่นมีการรวมตัวกันทำเช่นนี้ ช่องรายการที่มาเผยแพร่ในผังรายการก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเงินพอที่จะมาช่วยสนับสนุนในการลงทุนห้องส่งและโครงข่ายของเคเบิลท้องถิ่นได้ เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยต้องขับเคลื่อนต่อไป

จากแนวทางต่างๆที่นำเสนอมา คงเป็นทางออกอีกช่องทางหนึ่งที่เคเบิลท้องถิ่นจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการรักษาเคเบิลท้องถิ่นให้ยืนหยัดต่อไปได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน อย่างที่ทุกคนได้ตั้งใจไว้

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด