imgArticle-07

วิวัฒนาการของเคเบิลทีวีไทย

ปี 2558

นับถอยหลังกว่า 60 ปีของระบบโทรทัศน์ระบบอนาล็อก กับกว่า 30 ปีของเคเบิลท้องถิ่นระบบ Analog ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปี 2558 จะเป็นจุดชี้ชะตาว่า การให้บริการระบบ Analog ของฟรีทีวีและเคเบิลท้องถิ่น ได้เริ่มนับถอยหลังแล้ว

ปี 2498

ช่องรายการฟรีทีวีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการส่งสัญญาณภาคพื้นดินในระบบอนาล็อกโดยมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ต่อมาจึงมีการขยายพื้นที่ให้บริการผ่านระบบ Microwave ไปยังต่างจังหวัด แต่ก็ยังขยายไปได้ไม่ทั่วถึง

ปี 2522

การรับชมช่องฟรีทีวี 3,5,7,9,11 ของประชาชนคนไทยในอดีต ในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถรับชมได้ครบเหมือนในปัจจุบัน แม้บางพื้นที่ประชาชนจะต้องต่อเสาก้างปลาขึ้นไปสูงกว่า 10 เมตร ก็ยังไม่สามารถรับชมช่องรายการได้ครบ จึงได้มีการทดลองทำเคเบิลทีวีขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยการตั้ง Tower ดักจับสัญญาณฟรีทีวี แล้วนำสัญญาณที่ได้ส่งผ่านสายเคเบิลทีวีมายังบ้านผู้รับบริการ แต่ยังไม่มีการทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง

ปี 2526

หลังจากที่ เรือตรีฉลาด วรฉัตร คุณดิเรก ศุภวิวัฒน์ ได้ไปดูการทำเคเบิลทีวีที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้ตกลงเอารูปแบบดังกล่าวมาทำเคเบิลท้องถิ่นทางธุรกิจเป็นครั้งแรกที่อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว สามารถรับชมช่องฟรีทีวี 3,5,7,9,11ได้เหมือนประชาชนคนไทยในจังหวัดอื่นๆ เพราะพื้นที่ดังกล่าวการใช้ปีกเสาก้างปลาปกติไม่สามารถรับช่องสัญญาณฟรีทีวีภาคพื้นดินได้ครบ การทำระบบเคเบิลทีวี จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนในสมัยนั้น ปัจจุบันกิจการเคเบิลท้องถิ่นดังกล่าวยังมีการประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปี 2533-2540

จากการทำเคเบิลท้องถิ่นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการรับชมช่องฟรีทีวีให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาในครั้งนั้นได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน มีผู้นำไปดำเนินการในทำนองเดียวกันและหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนการติดตั้ง Tower มาเป็นการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับสัญญาณฟรีทีวีจากดาวเทียม Palapa ของอินโดนีเซียแทน จนเกิดเคเบิลท้องถิ่นกระจายไปยังจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดอื่นๆในภาคกลาง และกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ

ในช่วงปี 2540-2545

ประเทศไทยมีดาวเทียมไทยคมเป็นของตนเอง ทำให้ช่องฟรีทีวีเปลี่ยนมาส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม ในระบบ C-Band แต่ราคาจานรับสัญญาณดาวเทียมยังสูง และต้องใช้จานดาวเทียมใบใหญ่กว่า 10 ฟุตจึงจะรับสัญญาณภาพได้ ทำให้มีประชาชนส่วนน้อยที่มีกำลังซื้อ จึงเป็นโอกาสของเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กสามารถลงทุนติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อส่งสัญญาณฟรีทีวีผ่านระบบสายเคเบิลทีวี

ในปี 2545-2550

กิจการเคเบิลท้องถิ่นได้ขยายตัวไปทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ทั้งจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องการรับชมฟรีทีวีและไม่มีปัญหาการรับชมช่องฟรีทีวี เพราะกิจการเคเบิลท้องถิ่นเริ่มพัฒนาไปสู่การนำช่องรายการลิขสิทธิ์ดีๆที่มีคุณภาพมาให้บริการเพิ่มเติมกับสมาชิก ร่วมกับการผลิตช่องข่าวท้องถิ่น เพื่อบริการประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้ขยายตัวขึ้นและเป็นที่นิยมของคนในแต่ละท้องถิ่น กลายเป็นสถานีข่าวของแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ทั้งๆที่คุณภาพการผลิตรายการยังไม่ดี แต่ประชาชนก็นิยมรับชมเพราะมีเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น

ในปี 2550-2555

ปัญหาการรับชมช่องฟรีทีวีไม่ชัดเริ่มหมดไป เพราะระบบจานรับสัญญาณดาวเทียมทั้งระบบ จานดำใบใหญ่ (C-Band) และจานสีต่างๆใบเล็ก (Ku-Band) เริ่มได้รับความนิยม เพราะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากสามารถผลิตในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ยิ่งผลิตมากราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ จากในอดีตราคาค่าติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมกว่า 200,000 บาท ลดลงมาเหลือ 100,000 บาท เหลือ 50,000 บาท เหลือ 20,000 บาท เหลือ 10,000 บาท เหลือ 5,000 บาท และเหลือ 2,500 บาท แถมด้วยประชาชนสามารถรับชมช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 200 ช่องโดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ในช่วงนี้กิจการเคเบิลท้องถิ่นและทีวีดาวเทียมได้มีการขยายตัวไปพร้อมๆกันโดยกลุ่มทีวีดาวเทียมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่เคเบิลท้องถิ่นได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลง

ในช่วงปี 2555-2556

เกิด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ขึ้น โดยมีโดยมีการแต่งตั้งให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) โดยมีพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย ในขณะที่พฤติกรรมการรับชมทีวีของคนไทยได้เปลี่ยนจากการรับชมช่องฟรีทีวีภาคพื้นดิน 6 ช่องผ่านเสาก้างปลาในระบบอนาล็อก มารับชมผ่านระบบเคเบิลท้องถิ่น 60-80 ช่องในระบบอนาล็อก โดยเสียค่าบริการรายเดือน และมารับชมผ่านทีวีดาวเทียม 200 ช่องในระบบดิจิตอล โดยไม่เสียค่าบริการรายเดือน ผลก็คือ การขยายตัวของเคเบิลท้องถิ่นเริ่มชลอตัวขณะที่การขยายตัวของจานดาวเทียมได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไป จนผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเริ่มปรับตัวโดยการเปิดให้บริการระบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มช่องรายการและคุณภาพสัญญาณในระบบดิจิตอล

ในปี 2557

เกิดดิจิตอลทีวี 48 ช่องขึ้นในประเทศไทย โดย กสท. เปิดให้บริการระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน 48 ช่อง เพื่อนำมาทดแทนระบบอนาล็อคภาคพื้นดิน 6 ช่องเดิมโดยในช่วงแรกมีทีวีธุรกิจภาคพื้นดินระบบดิจิตอลขึ้น 24 ช่อง เป็นระบบ HD 7 ช่อง และระบบ SD 17 ช่อง และทีวีสาธารณะ 3 ช่องรวมเป็น 27 ช่อง โดยช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง กสท. ได้ประกาศให้เป็นช่องรายการที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกระบบทุกโครงข่าย ต้องนำช่องรายการดิจิตอลทีวีไปออกอากาศในระบบของตนเองในตำแหน่งช่องที่ 23-46 เพื่อประโยชน์ในการหาโฆษณาทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องดังกล่าว รวมทั้ง กสทช. ได้ออกนโยบายแจกคูปอง 690 บาท/ครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่องดิจิตอลทีวี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมารับชมทีวีผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ซึ่งการแจกคูปองดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นและยอดขายจานรับสัญญาณดาวเทียม เพราะทั้ง 2 โครงข่ายไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจาก กสทช.

เกิดการปฏิวัติ

จากเดิมที่ช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมจำนวนมาก ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม ทั้งในด้านการโฆษณาที่หลอกลวงและเกินจริง รวมทั้งเนื้อหารายการที่ยั่วยุให้เกิดความแตกแยกในสังคม กสทช. และคสช. จึงออกกฎให้ช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นช่องรายการที่มีการบอกรับสมาชิก และกำหนดให้โครงข่ายที่มีการบอกรับเป็นสมาชิกต้องเอาช่องรายการที่ขึ้นทะเบียนแบบบอกรับเป็นสมาชิกแล้วเท่านั้น มาเผยแพร่ ซึ่งกฎทั้ง 2 ข้อนี้มีผลให้โครงข่ายโทรทัศน์ต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ที่ต้องการเอาช่องรายการทีวีผ่านดาวเทียมไปเผยแพร่ต้องเลือกช่องรายการที่ได้ขึ้นทะเบียนแบบบอกรับเป็นสมาชิกกับ กสทช. แล้วเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่ติดตั้งจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไม่สามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้ประมาณ 2-3 เดือน จึงเกิดการกลับไปนับหนึ่งใหม่ของกลุ่มช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมเพราะต้องมาแจ้งเปลี่ยนสถานะจากการเป็นช่องฟรีทีวี เป็นช่องรายการแบบบอกรับเป็นสมาชิก และมีช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมหลายช่องไม่ผ่านเกณฑ์การให้บริการแบบบอกรับสมาชิกหลายช่องได้ยุติการออกอากาศไป เนื่องจากไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพราะการเป็นช่องทีวีแบบบอกรับเป็นสมาชิกจะสามารถมีโฆษณาได้เพียง 6 นาที/ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต่างจากช่องฟรีทีวีของดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องของ กสทช. ที่สามารถมีโฆษณาได้ 12 นาที/ชั่วโมง ประกอบกับการเกิดของดิจิตอลทีวี 24 ช่อง ทำให้เกิดการแข่งขั้นตัดราคาค่าโฆษณาลงไปมาก

ในปี 2558

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2557 ทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นประสบภาวะขาดทุน โดยเฉพาะรายเล็ก หลายรายเริ่มประกาศขายกิจการ บางรายประกาศขายแล้วไม่มีคนซื้อจึงต้องปิดกิจการ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนี้ หากในปี 2558 ไม่มีการสนับสนุนหรือช่วยเหลือใดๆจาก กสทช. หรือการแก้ไขที่ถูกต้องจาก สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในประเทศไทยจะต้องปิดกิจการตามมาอีกไม่น้อยกว่า 100 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ขายจานรับสัญญาณดาวเทียมที่ยอดขายจานดาวเทียมในปี 2557 ตกลงไปมาก ต้องหันไปจับมือกับกลุ่มผู้ผลิตช่องรายการผ่านดาวเทียม เพื่อหาทางสนับสนุนซึ่งกันและกันให้สามารถอยู่ให้ได้ในตลาดเพื่อแข่งขันกับดิจิตอลทีวีที่มีผู้สนับสนุนหลักคือ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระผู้มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้งหมดในประเทศไทยให้เกิดการแข่งขันกันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามรูปแบบการทำงานของ กสทช. ในปัจจุบัน คงต้องติดตามดูตอนจบว่า จะจบได้สวยทุกคน หรือใครจะเป็นศพที่ต้องถูกหามออกไป

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด