imgArticle-06

ดิจิตอลทีวี จะเพิ่มเรทติ้งได้อย่างไร

ในปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านไป เป็นปีที่มีความสับสนวุ่นวายสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เป็นปีที่ผู้ประกอบกิจการช่องรายการโทรทัศน์ ได้รับความเสียหาย ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มช่องรายการฟรีทีวีในระบบอนาล็อก 6 ช่อง, ช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมอีกกว่า 200 ช่อง และช่องรายการดิจิตอลทีวีอีก 24 ช่อง นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยหน้ากัน

เป้าหมายของ คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ภายใต้นโยบายที่มั่นคงของ คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในการที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบการให้บริการโทรทัศน์ในประเทศไทย จากการที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก 6 ช่อง ไปสู่การที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล 48 ช่อง ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ระบบอนาล็อก เป็นระบบที่ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติอย่างไม่มีประสิทธิ์ภาพ ทั้งในด้านปริมาณช่องรายการและคุณภาพการให้บริการ แถมท้ายด้วยภาพลักษณ์การเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาค ที่ยังคงใช้ระบบอนาล็อกภาคพื้นดินอยู่ ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท) ทนไม่ได้ ดังนั้นธงของ คณะกรรมชุดนี้คือการสนับสนุนกลุ่มช่องดิจิตอลทีวี ภาคพื้นดิน 48 ช่องในทุกวิถีทางให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการใดก็ตาม

โดย กสท. ไม่ได้สนใจว่า ระบบอนาล็อกดังกล่าว ที่มีผู้ใช้อยู่เพียง 36% ของประเทศ หรือ 8 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ส่วนอีก 64% ของประเทศหรือ 15 ล้านครัวเรือน มีการใช้ระบบดิจิตอลผ่านดาวเทียมกันนานมาแล้ว ที่สำคัญระบบนี้ไม่ได้ไปใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเลย ดังนั้นการจะเปลี่ยน 8 ล้านครัวเรือนให้มาใช้ระบบดิจิตอล ตามที่ กสท. ต้องการ ก็ไม่ควรจะไปรบกวนสิทธิ์ของผู้ที่ใช้ระบบดิจิตอล โดยไม่ใช้คลื่นความถี่ของชาติจำนวน 15ล้านครัวเรือน

ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องต้องเกิดให้ได้

กลุ่มช่องดิจิตอลทีวี 48 ช่องที่ คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต้องการสนับสนุนประกอบด้วย ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ทีวีธุรกิจ 24 ช่อง และทีวีชุมชน 12 ช่อง จุดสำคัญที่จะทำให้กลุ่มช่องดิจิตอลทีวีเกิดขึ้นให้ได้คือ กลุ่มช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องที่ กสท. จัดประมูลและได้เงินจากการประมูลมากว่า 50,000 ล้านบาท ต้องเกิดและอยู่ให้ได้ เพราะหากกลุ่มช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องไม่เกิด กลุ่มทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต้องช่วยดิจิตอลทีวีทุกช่องทาง

เมื่อเป้าหมายชัดเจนเช่นนี้ กสท. จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนด ระเบียบ และ กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อช่วยให้ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องสามารถอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ ตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปีที่ได้รับจาก กสท. เพราะหากทีวีธุรกิจ 24 ช่องนี้อยู่ไม่ได้ จะกลายเป็นผลงานชิ้นโบดำของ กสท.ชุดนี้ ที่ได้ฝากแผลเป็นไว้ให้กับวงการโทรทัศน์ไทย

เงินโฆษณาคือหัวใจของดิจิตอลทีวี 24 ช่อง

ประเด็นสำคัญ ที่เป็นหัวใจของความอยู่รอดของช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่อง ดังกล่าวคือ เม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท/ปี โดยแบ่งออกเป็นเม็ดเงินโฆษณาในกิจการโทรทัศน์แบบฟรีทีวีระบบอนาล็อกภาคพื้นดินประมาณ 70,000 ล้านบาท/ปี กิจการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวีประมาณ 15,000 ล้านบาท/ปี ที่เหลือเป็นเม็ดเงินโฆษณาในสื่ออื่นๆเช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายโฆษณา และสื่ออื่นๆ

เรทติ้งดิจิตอลทีวีต้องตอบโจทก์ เอเจนซี่โฆษณา

ดังนั้นเป้าหมายแรกที่ช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องต้องทำให้ได้คือ การแย่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโฆษณามาจากกลุ่มช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบอนาล็อก และกลุ่มฟรีทีวีผ่านดาวเทียมให้ได้ ซึ่งการจะแย่งเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าว กลุ่มดิจิตอลทีวีจะต้องสามารถสร้างเรทติ้งให้เกิดขึ้นมาให้ได้ เพราะการจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทยเรทติ้ง คือเครื่องมือที่สำคัญที่จะกำหนดว่าเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าวจะตกไปอยู่ในมือใคร จำนวนเท่าใด และ เรทติ้งดังกล่าวถูกดำเนินการโดยบริษัทวิจัยตลาด AGB Neilsen ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของต่างชาติเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ที่บริษัทเอเจนซี่โฆษณาต่างๆให้ความเชื่อถือ และใช้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการนำมาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาตามเรทติ้งดังกล่าว

เอเจนซี่โฆษณา ถาม AGB Nielsen

การทำวิจัยตลาดของ AGB Nielsen จะดำเนินการโดยการนำเอาอุปกรณ์จับสัญญาณไปไว้ที่บ้านของผู้ชมทีวี ตามหลักการทำวิจัยตลาด เพื่อตรวจจับพฤติกรรมการรับชมช่องรายการทีวีของคนไทยว่า ใคร ชมทีวีช่องอะไร ในเวลาใด ผ่านโครงข่ายใด ซึ่งผลที่ได้ก็จะสามารถบอกได้ว่า ช่องรายการใด มีใครเป็นผู้รับชม และมีจำนวนมากน้อยเท่าใด ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะถูกแปลออกมาเป็นอัตราค่าโฆษณาที่ เอเจนซี่จะต้องจ่ายให้รายการหรือเจ้าของช่องรายการเท่าใด ซึ่งจะสะท้อนถึงความคุ้มค่าของเจ้าของสินค้า ในการจ้างเอเจนซี่เลือกใช้เม็ดเงินลงโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ช่องนั้นๆหรือรายการนั้นๆ

AGB Nielsen คือผู้เฉลยคำตอบ

ในการนำเอาอุปกรณ์ตรวจจับพฤติกรรมของประชาชนในการรับชมโทรทัศน์ดังกล่าว AGB Nielsen จะเอาอุปกรณ์ตรวจจับไปไว้ที่บ้านประชาชนตามช่องทางการรับชมต่างๆเช่น รับชมผ่านระบบอนาล็อกเสาก้างปลา, รับชมผ่านระบบดิจิตอลทีวีของ กสทช., รับชมผ่านระบบจานดาวเทียม, รับชมผ่านระบบเคเบิลทีวีระดับชาติ, รับชมผ่านระบบเคเบิลท้องถิ่น เป็นต้น โดยจุดรับชมต่างๆเหล่านี้คือกลุ่มตัวอย่างที่ AGB Nielsen ใช้ในการตรวจวัดพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของคนไทย แล้วออกเป็นรายงานให้เอเจนซี่ทราบ แม้ว่าการทำโดยวิธีการนี้จะมีผู้ไม่เห็นด้วย หรือมีข้อโต้แย้ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถวัดผลได้แม่นยำไปกว่า ตัวเลขที่ AGB Nielsen ทำ

คนไทยใช้เวลาดูฟรีทีวีคิดเป็น 75% ของเวลาการดูทีวีทั้งหมด

จากข้อมูลการสำรวจของ AGB Nielsen พบว่า พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของคนไทย 64% รับชมในระบบจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี อีก 36% รับชมในระบบอนาล็อกผ่านเสาก้างปลา และการใช้เวลาในการรับชมโทรทัศน์ 75% รับชมช่องฟรีทีวีอนาล็อก 6 ช่อง 25% รับชมช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี และเวลาที่ใช้ในการรับชมช่องฟรีทีวี 6 ช่อง 80% รับชมช่อง 3 และช่อง 7 และอีก 20% ที่เหลือแบ่งกัน 4 ช่องคือ 5,9,Nbtและ ThaiPBS

ดิจิตอลทีวีต้องแย่งเงินโฆษณามาจากช่องทีวีดาวเทียม

ในปี 2557 เมื่อเกิดดิจิตอลทีวี 24 ช่อง มียอดเงินโฆษณาจ่ายให้กับช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องรวมกันเพียง 4,300 ล้านบาท โดยเป็นการแย่งเม็ดเงินโฆษณามาจากช่อง 5 ช่อง 9 รวมทั้งช่องทีวีดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนเม็ดเงินโฆษณาของช่อง 3 และ 7 ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

กสท. ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมทีวีของคนไทย จากข้อมูลช่องทางการรับชมโทรทัศน์ของคนไทย 23 ล้านครัวเรือนในปี 2556 จะพบว่า 36% หรือ ประมาณ 8 ล้านครัวเรือนรับชมผ่านเสาก้างปลาในระบบอนาล็อก 64% หรือ 15 ล้านครัวเรือน รับชมในระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี โดย 12 ล้านครัวเรือน รับชมในระบบจานดาวเทียม 3 ล้านครัวเรือนรับชมในระบบเคเบิลทีวี วิธีการรับชมโทรทัศน์ที่จะทำให้ช่องดิจิตอลทีวีได้รับประโยชน์สูงสุดคือ การที่ประชาชนเปลี่ยนวิธีการรับชมโทรทัศน์จากระบบเดิม ทั้งผ่านเสาก้างปลาแบบอนาล็อก ผ่านระบบจานดาวเทียม ผ่านระบบเคเบิลทีวี มารับชมผ่านระบบดิจิตอลภาคพื้นดินเพียงระบบเดียว ที่มีช่องให้รับชมได้ 48 ช่อง (ปัจจุบันรับชมได้ 27 ช่อง) เพราะการรับชมโดยวิธีนี้ จะทำให้ประชาชนไม่สามารถรับชมช่องรายการของกลุ่มทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ จะทำให้ เรทติ้งของกลุ่มช่องรายการที่ให้บริการผ่านโครงข่ายอื่นๆลดลง เม็ดเงินโฆษณาก็จะไหลมาลงที่กลุ่มช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องเพิ่มขึ้น

กฎ Must Carry มีเพื่อดิจิตอลทีวีโดยแท้

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องได้รับการชมอย่างแพร่หลาย และรวดเร็ว กสท. จึงได้ออกกฎให้ช่องดิจิตอลทีวี เป็นช่องที่ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมทุกรายต้องนำไปเผยแพร่ด้วย (Must Carry) และต้องเปิดในตำแหน่งช่องที่ 11-46 ให้ตรงกันทุกโครงข่ายโดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกของประชาชนในการรับชม แต่ความจริงเพื่อความสะดวกในการวัดเรทติ้ง และเพื่อความสะดวกของช่องดิจิตอลทีวีในการโฆษณาช่องรายการ ให้ประชาชนจดจำได้ง่าย

ด้วยกฎ Must Carry ดังกล่าว ทำให้มีประชาชน สามารถรับชมช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องได้ทันที ผ่านโครงข่ายระบบจานดาวเทียมได้ 12 ล้านครัวเรือน ส่วนระบบเคเบิลทีวีโดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ อนาล็อก กสท. อนุโลมให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry เนื่องจากเหตุผลในทางเทคนิค ทำให้ในต้นปี 2557 มีประชาชนสามารถรับชมช่องดิจิตอลทีวีได้ทันที 12 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 50% ของประชาชนทั้งประเทศ

คูปอง 690 บาทเพื่อดิจิตอลทีวี

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีการรับชมจากโครงข่ายอื่นๆให้มารับชมผ่านโครงข่ายดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินเท่านั้น กสท. จึงออกนโยบายแจกคูปอง 690 บาท/ครัวเรือน ให้ประชาชนทุกครัวเรือน ไม่ว่าเดิมประชาชนจะรับชมทีวีผ่านระบบโครงข่ายใดๆก็ตาม โดย กสท. หวังว่าประชาชนจะเอาคูปองไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี หรือเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เพื่อนำมาเปลี่ยนวิธีการรับชมทีวี จากระบบเดิม มาสู่ระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน

คูปอง 690 บาทจัดทำมาเพื่อทำลายโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี

ที่สำคัญ คูปอง 690 บาทดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่มีประชาชน 15 ล้านครัวเรือนรับชมอยู่ในปัจจุบัน กสท. ไม่อนุญาตให้ประชาชนเอาคูปอง 690 บาทไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่องดิจิตอลของระบบดาวเทียม (DVB-S) และเคเบิลทีวี (DVB-C) แม้ว่ากล่องดิจิตอลของระบบดังกล่าวจะถูก กสท. บังคับให้ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ให้บริการระบบดิจิตอล ต้องนำช่องดิจิตอลทีวีทั้งหมด ไปเปิดเผยแพร่ให้บริการร่วมกับช่องรายการที่มีอยู่เดิมของแต่ละระบบด้วยก็ตาม โดย กสท. หวังว่าเมื่อประชาชน 15 ล้านครัวเรือนดังกล่าว ได้รับแจกคูปอง 690 บาทไปแล้ว จะยกเลิกการรับชมโทรทัศน์ในระบบเดิม แล้วเปลี่ยนมารับชมผ่านกล่องดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) ของ กสท. เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

กล่าวคือ ช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องจะมีคนดูเพิ่มขึ้น ส่วนช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี จะมีคนดูลดลง ซึ่งหากเป็นไปตามแผนดังกล่าว เม็ดเงินโฆษณาจากช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีก็จะไหลมาลงที่ช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องตรงตามแผนที่ได้วางไว้

ปี พ.ศ. 2557 กล่องดิจิตอลทีวีวางไม่ได้ตามเป้า

แผนการเปลี่ยนกล่องดิจิตอลดังกล่าว ถูกนำมาปฏิบัติในปี พ.ศ.2557 ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับจากประชาชนน้อยมาก เนื่องจากการติดตั้งระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินไม่ง่ายอย่างที่คิด และการรับสัญญาณก็ยังมีปัญหา ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องดิจิตอลทีวี และยังพอใจกับการรับชมช่องรายการในระบบจานดาวเทียม และเคเบิลทีวีอยู่ ที่สำคัญการรับชมทั้ง 2 ระบบก็สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ครบเหมือนกัน ประชาชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาติดตั้งระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินตามคำแนะนำของ กสท.

เรทติ้งช่องดิจิตอลทีวี 27 ช่องในปี พ.ศ.2557

จากข้อมูลการวัดเรทติ้ง ของ AGB Neilsen ในปี 2557 พบว่าการรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวี 27 ช่องเรียงตามลำดับดังนี้

จะเห็นว่า 10 ช่องแรกของการรับชมทั้งประเทศยังเป็น ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม จะมีช่องดิจิตอลทีวีสอดแทรกเข้ามาได้เพียง 4 ช่องคือ WORKPOINT TV , CH 8 , MONO และ Thairath TV เท่านั้น โดย เรทติ้งของช่อง 3 และ 7 ก็ต่างจากช่องอื่นๆเกือบ 10 เท่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ก่อนอื่นต้องกลับไปย้อนดูตัวเลขช่องทางการรับชมของคนไทย 23 ล้านครัวเรือนว่า มีช่องทางในการรับชม ช่องรายการทีวีในกลุ่ม 27 ช่องผ่านช่องทางใด มากน้อยเพียงใด

1. ช่องฟรีทีวี 6 ช่อง : สามารถรับชมได้ครบทั้ง 23 ล้านครัวเรือนผ่าน 4 ช่องทาง คือ

  • รับชมผ่านเสาก้างปลาในระบบ Analog ที่ตำแหน่งช่องเดิมจำนวน 5 ล้านครัวเรือน
  • รับชมผ่านกล่อง Digital DVB-T2 ที่ตำแหน่ง 11-46 จำนวน 3 ล้านครัวเรือน
  • รับชมผ่านเคเบิลท้องถิ่นในระบบ Analog ที่ตำแหน่งช่องเดิมจำนวน 3 ล้านครัวเรือน
  • รับชมผ่านจานดาวเทียมในระบบ Digital ที่ตำแหน่งช่อง 11-46 จำนวน 12 ล้านครัวเรือน

2. ช่องดิจิตอลทีวี 21 ช่อง : สามารถรับชมได้ 15 ล้านครัวเรือนใน 2 ช่องทางคือ

  • รับชมผ่านกล่อง Digital DVB-T2 ที่ตำแหน่ง 11-46 จำนวน 3 ล้านครัวเรือน
  • รับชมผ่านจานดาวเทียมในระบบ Digital ที่ตำแหน่งช่อง 11-46 จำนวน 12 ล้านครัวเรือน

ช่องดิจิตอลทีวีที่มีเรทติ้ง สูงกว่าช่องอื่นเพราะอะไร

หากดูตัวเลขในกลุ่มดิจิตอลทีวีที่ไม่รวมฟรีทีวี 6 ช่องเดิม จะพบว่า ใน 21 ช่อง มีช่องที่สามารถสอดแทรกเข้ามาเป็น TOP 10 เพียง 4 ช่องโดยช่องฟรีทีวีอนาล็อก 6 ช่องยังคงติดกลุ่ม TOP 10 ประเด็นก็คือ 4 ช่องดิจิตอลทีวีที่ติด TOP 10 มี 2 ช่องที่เป็นช่องทีวีดาวเทียมเดิม แล้วเปลี่ยนมาเป็นดิจิตอลทีวีคือ WORKPOINT TV และ CH 8 ซึ่ง 2 ช่องนี้เป็นช่องที่ระบบจานดาวเทียมเดิมเปิดช่อง WORKPOINT TV อยู่ตำแหน่งเลข 1 และช่อง CH 8 อยู่ตำแหน่งเลข 8 และผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นก็นำมาเปิดให้บริการกับสมาชิกเคเบิลทีวีรับชมอยู่แล้ว ทำให้ 2 ช่องดังกล่าวมีฐานผู้ชมมากกว่าช่องดิจิตอลทีวีอื่นๆ 3 ล้านครัวเรือน(ของเคเบิลท้องถิ่น) และได้อยู่ในตำแหน่งเลขช่องที่ดีในระบบจานดาวเทียม จึงส่งผลให้มี เรทติ้งสูงกว่าช่องดิจิตอลทีวีอื่นๆหรือไม่

เคเบิลท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับเรทติ้ง ที่สูงขึ้นหรือไม่

หากพิจารณาเป็นช่องที่มีเรทติ้ง เกิน 0.1 ในระดับประเทศจะพบว่ามีช่องดิจิตอลทีวีติดกลุ่มเข้ามาเพียง 8 ช่องเรียงตามลำดับคือ WORKPOINT TV, CH8 , MONO29 , Thairath TV , TRUE4U , ONE , Nation TV ใน 8 ช่องดังกล่าวเป็นช่องที่เคยเป็นช่องทีวีดาวเทียมมาก่อน หรือมีความสัมพันธ์อันดีกับเคเบิลท้องถิ่น ทำให้ในปัจจุบัน ช่องรายการดังกล่าวผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเอามาช่วยเผยแพร่ให้ในระบบอนาล็อก จึงทำให้มีฐานผู้รับชมมากกว่าช่องดิจิตอลทีวีทั่วไป ส่งผลให้มี เรทติ้ง เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่องดิจิตอลทีวีอื่นๆหรือไม่

ปี 2557 ดิจิตอลทีวีมีเรทติ้ง สูงขึ้นแต่ยังไม่พอ

จากข้อมูลของ AGB Nielsen พบว่า การเติบโตของกลุ่มผู้ชมทีวีใน 3 แพลทฟอร์มเมื่อเปรียบเทียบในช่วง เดือนมี.ค.57 กับ เดือนกันยายน 2557 พบว่า

  • อันดับ 1 ฟรีทีวี (6 ช่อง) เดิมมีส่วนแบ่งผู้ชม 79.3% ลดลงเหลือ 72.5%
  • อันดับ 2 ทีวีดาวเทียม (คิดจาก 70 ช่อง) เดิมมีส่วนแบ่งผู้ชม 17.3% ลดลงเหลือ 14.2%
  • อันดับ 3 ทีวีดิจิตอล (24 ช่อง) เดิมมีส่วนแบ่งผู้ชม 3.4% เพิ่มขึ้นเป็น 13.3%

ดิจิตอลทีวีต้องเร่งเพิ่มการติดตั้งกล่อง DVB-T2

จากข้อมูลดังกล่าว จะพบว่าฐานผู้ชมดิจิตอลทีวี จากโครงข่ายจานดาวเทียมน่าจะนิ่งแล้ว การเพิ่มขึ้นของผู้ชมช่องดิจิตอลทีวี น่าจะเกิดจากการรับชมจากฐานสมาชิกที่ติดตั้งกล่องดิจิตอลผ่านคูปอง 690 บาท และฐานสมาชิกผู้ชมจากเคเบิลท้องถิ่นที่มีผู้ประกอบกิจการบางรายเริ่มนำช่องรายการดิจิตอลทีวีบางช่องไปร่วมเผยแพร่ในระบบfอนาล็อก ซึ่งแนวโน้มในอนาคตน่าจะเพิ่มขึ้นแต่จะเพิ่มขึ้นเพียงพอกับความต้องการเรทติ้งของช่องรายการดิจิตอลทีวี เพื่อตอบโจทก์ เอเจนซี่โฆษณา หรือไม่คงต้องติดตามดู

ปี 2558 จะมีคนรับชมดิจิตอลทีวีได้ถึง 15 ล้านครัวเรือนหรือไม่

ในปี 2558 เชื่อว่าจะมีประชาชนสามารถรับชมช่องดิจิตอลทีวีครบทั้ง 24 ช่องได้ไม่เกิน 15 ล้านครัวเรือน โดยแบ่งออกเป็น

  • 1) รับชมผ่านระบบจานดาวเทียม 12 ล้านครัวเรือน
  • 2) รับชมผ่านกล่องดิจิตอลทีวี 3 ล้านครัวเรือน

ที่เหลืออีก 8 ล้านครัวเรือนยังไม่สามารถรับชมได้ แบ่งออกเป็น

  • 1) กลุ่มที่รับชมผ่านเคเบิลท้องถิ่น 3 ล้านครัวเรือน (อาจมีบางช่องที่เคเบิลท้องถิ่นเอาไปเผยแพร่)
  • 2) กลุ่มที่รับชมผ่านเสาก้างปลาระบบอนาล็อก 5 ล้านครัวเรือน

ปี 2557 กสท. ช่วยดิจิตอลทีวีแล้วยังไม่พอ ปี 2558 ต้องเปลืองตัวช่วยอีก

สำหรับ กสท.ในปี 2558 จะสามารถช่วยช่องดิจิตอลทีวีได้อีกทางหนึ่ง โดยการจะออกกฎการจัดเรียงช่องใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้โครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมต้องจัดเรียงช่องดิจิตอลทีวีไว้ที่ช่อง 11-46 กสท. จะต้องออกกฎเพื่อบังคับให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเปลี่ยนมาใช้ช่อง 1-36 แทนโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงข่ายบอกรับสมาชิกของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม

ทั้งนี้เพื่อให้ช่องดิจิตอลทีวีได้อยู่ในตำแหน่งช่องที่ดีขึ้นและสามารถโฆษณาช่องได้เหมือนกันในทุกโครงข่าย โดยช่องรายการทีวีเดิมของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะต้องย้ายออกจากตำแหน่งเดิมเพื่อเปิดทางให้ช่องดิจิตอลทีวีได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ภายใต้การกำกับดูแลที่เป็นธรรมของ กสท. งานนี้เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว อีกครั้งของ กสท. เพราะนอกจากจะช่วยช่องรายการของดิจิตอลทีวีให้ได้ตำแหน่งช่องที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายช่องดาวเทียมและเคเบิลทีวีให้จำเป็นต้องเปลี่ยนตำแหน่ง แถมด้วยทำให้โครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมรวมทั้งโครงข่ายดิจิตอลทีวีมี 36 ช่องแรกเหมือนกัน ทำให้โครงข่ายบอกรับสมาชิกที่เรียกเก็บค่าบริการรายเดือนไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ใน 36 ช่องแรก เป็นการทำให้ทุกโครงข่ายมีความไม่สะดวกในการรับชมช่องรายการเหมือนๆกัน ซึ่งจะส่งผลให้ ประชาชนไม่เห็นความแตกต่างระหว่างโครงข่ายฟรีทีวี กับโครงข่ายบอกรับสมาชิก และทำให้ประชาชนผู้รับชมโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเบื่อ เพราะเปลี่ยนตำแหน่งช่องบ่อย อาจหันมาเลือกติดตั้งกล่องดิจิตอลทีวีของ กสท. ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งผู้ชมของดิจิตอลทีวีเพิ่มสูงขึ้น ตามแผนของ กสท. ในการช่วยช่องดิจิตอลทีวีแย่งฐานผู้ชมมาจากโครงข่ายอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ปี 2557 ดิจิตอลทีวี 24 ช่องน่าจะขาดทุน 8,000 ล้านบาท

สำหรับช่องดิจิตอลทีวี แม้จะได้รับความช่วยเหลือจาก กสท. ในทุกรูปแบบแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถเพิ่มฐานผู้ชมให้ได้มากเพียงพอกับต้นทุนที่มีหรือไม่ เพราะช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องเมื่อเอาต้นทุนในส่วนต่างๆมารวมกันน่าจะมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท/ช่อง/ปี หรือ 12,000 ล้านบาท/ปี/24ช่อง

ในปี 2557 ช่องดิจิตอลทีวีได้เงินจากการโฆษณามา 4,300 ล้านบาท/ปี ก็เท่ากับขาดทุนรวมกันในปีที่ 1 ของการดำเนินการไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท คงต้องมาติดตามดูว่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 2 กลุ่มช่องดิจิตอลทีวีจะสามารถหารายได้เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ นั้นก็หมายความว่าจะสามารถแย่งเงินโฆษณาจากช่องดาวเทียมและฟรีทีวี 6 ช่อง มาได้มากน้อยเพียงใด

อย่าลืมเคเบิลท้องถิ่น

เท่าที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ช่องดิจิตอลทีวีส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำ หรืออาจไม่รู้คือ การหาผู้ชมจากฐานสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น เพราะกลุ่มเคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry ของ กสท. ดังนั้นเคเบิลท้องถิ่นจึงมีอิสระในการจะเลือกนำเปิดช่องรายการต่างๆมาเผยแพร่ได้ตามความเหมาะสม ตราบใดที่ไม่ทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้นเจ้าของช่องรายการดิจิตอลทีวีต่างๆหากต้องการฐานผู้ชมเพิ่มเติม ต้องไปติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นให้เข้าใจและรู้จักช่องรายการของดิจิตอลทีวี เพื่อให้นำช่องดิจิตอลทีวีไปเปิดในผังช่องรายการในระบบอนาล็อกของเคเบิลท้องถิ่นเพราะกลุ่มนี้มีฐานสมาชิกรับชมกว่า 3 ล้านครัวเรือน ที่สำคัญเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่สินค้าต้องการเสียด้วย จะเห็นได้ว่าช่องดิจิตอลทีวีประมาณ 3-4 ช่องทราบเหตุผลนี้ดี จึงได้ไปติดต่อกับเคเบิลท้องถิ่นเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยเผยแพร่ช่องของตนเองเพิ่มเติม ทำให้มีเรทติ้งสูงกว่าช่องดิจิตอลทีวีอื่นๆ งานนี้อย่ามั่นใจว่าช่องของตนเองดี เคเบิลท้องถิ่นจะเปิดให้เอง เพราะแม้ Content is the King แต่ Platform is the God

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด