imgArticle-05

กสท. รักลูกไม่เท่ากัน

กสทช. กว่าจะเกิดได้ก็แสนยาก

กสทช. ควรจะมีมาตั้งแต่สมัยที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ มีองค์กรที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ปล่อยให้หน่วยงานราชการมาเอาคลื่นความถี่ของชาติ ไปหาประโยชน์ใส่ตัวเองและพวกพ้อง แต่ด้วยผลประโยชน์ที่มหาศาลที่ได้รับกันมานาน ทำให้เกิดกระบวนการเตะถ่วง ไม่ให้หน่วยงานที่จะมากำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ สามารถคลอดออกมาได้ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ล้มไป เข้ามาสู่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังกำหนดบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้เหมือนเดิม จนกระทั่งปลายปี 2554 องค์กรที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง จึงสามารถตั้งขึ้นมาได้ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ใครมีความสุขที่สุดจากการเกิดขึ้นของ กสทช.

ในวันที่ กสทช. เกิดขึ้นมา กลุ่มผู้ที่มีความสุขที่สุดกลุ่มหนึ่งในสมัยนั้นคือ ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทีวีดาวเทียม ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ผู้ผลิตช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม และผู้ผลิตช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก เพราะเป็นผู้ที่รอคอยความหวังที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายจาก กสทช. ชุดนี้ เนื่องจากในสมัยนั้นผู้ประกอบกิจการทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว ตกอยู่ในสถานะผู้ประกอบกิจการที่ไม่มีใบอนุญาต หรือหากมีก็เป็นใบอนุญาตที่ไม่สมบูรณ์ จนมีผู้กล่าวว่ากลุ่มเหล่านี้เป็น "ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมเถื่อน" "ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวีเถื่อน" "ผู้ผลิตช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมเถื่อน" และ "ผู้ผลิตช่องรายการเคเบิลทีวีเถื่อน"

เคเบิลท้องถิ่น ผู้โหยหา กสทช.

โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น มีที่การประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2526 หรือเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวมาโดยตลอดจากสังคมไทยว่าเป็น "เคเบิลเถื่อน" บางช่วงเวลาถึงกับถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ต้องปราบให้สิ้นซาก บางช่วงเวลาหน่วยงานราชการถึง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสรรพากร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องระดมกำลังพร้อมกัน เพื่อเข้าปิดกิจการเคเบิลท้องถิ่น เพียงเพราะเอกชนขัดผลประโยชน์กัน เนื่องจากเคเบิลท้องถิ่น ไปทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติที่ได้สัมปทานผูกขาดจากหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย จากการเติบโตของเคเบิลท้องถิ่น จนไม่สามารถขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ เพราะประชาชนนิยมใช้บริการเคเบิลท้องถิ่น ดังนั้นความต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบกิจการที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง จึงเป็นความโหยหา ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย

ลูกคนที่ 1 ของ กสท. ใบอนุญาตโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น

จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2555 ผลงานชิ้นแรกของ กสทช. ก็ออกมาคือการ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวี ที่มีอายุ 15 ปี ให้กับ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นชุดแรก ในวันนั้นต้องถือว่า โครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น เป็นลูกคนแรกของ กสทช. และเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ กสทช. มีความยินดีนำเสนอผลงานสู่สังคมไทย ในวันนั้นเป็นวันที่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น มีความสุขที่สุด เพราะใบอนุญาตที่ได้ ถือเป็นการปลดพันธนาการคำว่า "เคเบิลเถื่อน" ออกจากเคเบิลท้องถิ่น ที่ถูกสังคมไทย ตราหน้าไว้กว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ลูกคนที่ 2 ชอง กสท. ใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม

ในช่วงปี 2551-2555 ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายดาวเทียมได้เกิดขึ้นหลายรายโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ก็ไม่มีใครตราหน้าว่าเป็น "โครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมเถื่อน" ซึ่งความจริงก็มีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการโครงข่ายดาวเทียมเถื่อนเหมือนกัน เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนกระทั่งในปี 2556 กสทช. ก็ได้คลอดลูกคนที่ 2 ออกมาเป็นใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ลูกคนที่ 3 ของ กสท. ใบอนุญาตช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม

ในช่วงปี 2546 ช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมที่ให้บริการเป็นภาษาไทยได้เริ่มเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต หลายรายได้อาศัยใบอนุญาตของต่างชาติ เพื่อมาเปิดให้บริการแก่คนไทย ผ่านดาวเทียมไทยคม เพื่อให้คนไทยได้รับชม การเลี่ยงกฎหมายด้วยรูปแบบต่างๆ ได้เกิดขึ้นมาก จนในช่วงปี 2546-2555 มีช่องรายการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ที่ให้บริการแบบฟรีทีวีผ่านระบบดาวเทียมมากกว่า 200 ช่อง แม้จะไม่มีใครตราหน้าว่าเป็น "ช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมเถื่อน" แต่ความจริงก็มีสถานะเป็นช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมเถื่อนเหมือนกัน เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวในปี 2556 กสทช. ก็ได้คลอดลูกคนที่ 3 ออกมาโดยเป็นใบอนุญาตช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถมีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง ต่างจากใบอนุญาตช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินช่อง 3,5,7,9 ที่เป็นช่องฟรีทีวีแบบใช้คลื่นความถี่ ที่สามารถมีโฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง

ลูกคนที่ 4 ของ กสท. ใบอนุญาตช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก

ความจริงช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก น่าจะเป็นกลุ่มช่องรายการที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2532 ในสมัยที่ IBC, ThaiSky และ UTV ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวีจาก อสมท. และเคเบิลท้องถิ่นได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการชั่วคราวจากกรมประชาสัมพันธ์ในช่วงปี 2535-2540 ประมาณ 78 ราย ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายกลุ่มนี้ มีช่องรายการส่วนหนึ่งผลิตขึ้นเอง บางส่วนเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการจากต่างประเทศ ในช่วงปี 2546-2555 มีผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเกิดขึ้นอีกมาก และมีการผลิตช่องข่าวท้องถิ่นขึ้น เพื่อบริการสมาชิกในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งช่องรายการเหล่านี้ถือเป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิกยังมีสถานะที่ไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม ดังนั้นในรอบปี 2556 กสท. ก็ได้ออกใบอนุญาตใหม่ให้ลูกคนที่ 4 ที่เป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิกของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวี โดยให้มีโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง

ลูก 4 คนแรก กสท. ไม่ได้ให้ท้ายใคร

จะเห็นว่าลูกๆ 4 คนแรกของ กสท.ที่ได้รับใบอนุญาตต่างๆ กสท. ได้ออกกติกาขึ้นมากำกับดูแล เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้ใครทำผิดกฎหมาย หรือออกนอกกรอบของกฎหมาย ในด้านการแข่งขัน แม้โครงข่ายเคเบิลทีวีกับโครงข่ายดาวเทียม จะมีการแข่งขันกันสูง และช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม กับช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก จะมีการแข่งขันกับช่องรายการฟรีทีวีแบบใช้คลื่นความถี่ กสท. ก็ได้ปล่อยให้ทุกรายมีการแข่งขันกันอย่างเสรี โดย กสท. ไม่ได้มีการออกหลักเกณฑ์ใดๆ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้รายใดได้เปรียบอีกรายหนึ่งเป็นการเฉพาะต้องถือว่า กสท. ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ให้เกิดการแข่งขันกันโดยเสรี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ดิจิตอลทีวี ลูกคนที่ 5 และ 6 ของ กสทช.

ต่อมาในช่วงต้นปี 2557 กสทช. ก็ได้เตรียมการทำคลอดลูกคนที่ 5 คือช่องรายการดิจิตอลทีวี 48 ช่อง เพื่อทดแทนช่องฟรีทีวีในระบบอนาล็อค 6 ช่องคือ 3,5,7,9,Nbt และ ThaiPBS และทำคลอดลูกคนที่ 6 คือโครงข่ายดิจิตอลทีวี โดยให้บริการผ่านเสาทีวีดิจิตอลระบบ DVBT-2 เพื่อให้เป็นช่องทางการเผยแพร่ของช่องดิจิตอลทีวี เพื่อทดแทนเสาก้างปลาในระบบอนาล็อค ลูกคนใหม่ทั้ง 2 รายนี้ กสท. หมายมั่นปั้นมือมาแต่ต้นว่า จะต้องมีให้ได้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีในประเทศไทยจากระบบอนาล็อค ไปสู่ระบบดิจิตอล เพราะเท่าที่ผ่านมา การออกใบอนุญาต ทั้งในกลุ่ม เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ไม่ได้เป็นแนวความคิดริเริ่มดั้งเดิมโดย กสท. ชุดนี้

แนวคิด กสท. เกี่ยวกับ โครงข่ายดิจิตอลทีวี

ประเทศไทยควรจะมี โครงข่ายดิจิตอลทีวีหรือไม่ กสท. คงต้องพิจารณาว่า ประเทศไทยในวันนี้มี โครงข่ายเคเบิลทีวี และโครงข่ายดาวเทียมแล้วกว่า 400 โครงข่าย (ผู้ประกอบกิจการ) โครงข่ายทั้ง 2 กลุ่มมีการให้บริการกับประชาชนครอบคลุมทั้งประเทศแล้วหรือยัง มีการเอาเปรียบหรือการผูกขาด จนทำให้สาธารณะเสียหายหรือไม่ หาก กสท. พิจารณาว่ายังเป็นปัญหา ก็ควรจัดให้มี โครงข่ายดิจิตอลทีวีเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด ลดการผูกขาดของโครงข่ายในระบบอื่นๆ หากมอง ณ วันนี้คงได้คำตอบแล้วว่า กสท. มองว่าการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในประเทศไทย ยังมีการแข่งขันกันน้อย ต้องเพิ่มการแข่งขันโครงข่ายดิจิตอลทีวีเข้าไปอีก เพื่อลดการผูกขาดของ 2 กลุ่มโครงข่ายเดิมที่มีเพียงกว่า 400 ราย เท่านั้น

แนวคิดเกี่ยวกับการเพิ่มช่อง ดิจิตอลทีวี

ช่องรายการฟรีทีวีภาคพื้นดิน เดิมเป็นการให้บริการในระบบอนาล็อค ต้องใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของประเทศไป 6 คลื่น เพื่อให้ได้ช่องรายการทีวี 6 ช่อง (3,5,7,9,Nbt และ ThaiPBS) กสท. มองว่าเป็นการใช้คลื่นความถี่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่จากระบบอนาล็อคเป็นระบบดิจิตอล เพราะหากใช้คลื่นความถี่ 6 คลื่นเท่าเดิม จะสามารถทำช่องรายการทีวีในระบบดิจิตอลได้ถึง 48 ช่อง และมีความคมชัดของสัญญาณมากกว่า แต่ประเด็นเรื่องช่องรายการ กสท. น่าจะพิจารณาว่า ในวันนี้ประเทศไทยมีช่องรายการที่ขึ้นทะเบียนกับ กสท. เพื่อให้บริการในประเทศไทยแล้วกว่า 800 ช่อง เพียงพอแล้วหรือยัง หากยังมีไม่เพียงพอ กสท. ก็ต้องจัดให้มีช่องรายการในระบบดิจิตอลภาคพื้นดินเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขันช่องรายการโทรทัศน์เข้าไปอีก จนถึงวันนี้คงได้คำตอบแล้วว่าช่องรายการที่มีเพียง 800 ช่อง กสท. ยังต้องการให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น จึงต้องเพิ่มช่อง ดิจิตอลทีวีเข้าไปอีก 48 ช่อง ส่วนการใช้คลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ วันนี้คงยังไม่มีคำตอบ เพราะคลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบอนาล็อคเดิม 6 คลื่น ก็ยังมีการใช้งานอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 5 ปี ส่วนคลื่นความถี่ดิจิตอลภาคพื้นดิน กสท. ก็ต้องเปิดใช้เพิ่มเติมอีก 6 คลื่น คงเห็นแล้วว่า ในช่วงเวลา 5 ปีจากนี้ไป ประเทศไทยต้องใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินไป 12 คลื่น ไม่ใช่ 6 คลื่นอย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน

ลูกคนที่ 5 กับลูกคนที่ 6 โอ๋กันสุดๆ

สำหรับลูกคนที่ 5 ที่ชื่อ โครงข่ายดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน และลูกคนที่ 6 ที่ชื่อ ช่องดิจิตอลทีวี 48 ช่อง กสท. จะดีใจเป็นพิเศษ และมีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมีการเตรียมการออกระเบียบ เตรียมแจกกล่องรับสัญญาณ DVBT-2 ให้กับคนไทย 22 ล้านครัวเรือนแบบฟรีๆ ออกระเบียบ สั่งให้ลูก 2 คนแรกคือ โครงข่ายเคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ต้องเอาน้องทีวีดิจิตอล 48 ช่องแบกขึ้นหลังไปร่วมออกอากาศในโครงข่ายของตนเองด้วย แถมท้ายด้วยให้ขยับช่องรายการของน้องคนที่ 3 และ 4 ไปนั่งกระบะหลัง แบ่งที่นั่งด้านหน้าให้น้อง ทีวีดิจิตอล ได้นั่งด้วยเพราะที่นั่งด้านหน้ามีแอร์เย็นๆ น้องจะได้สบาย ส่วนช่องรายการของเคเบิลท้องถิ่นและทีวีดาวเทียมโตแล้ว ไปนั่งกระบะหลังปล่อยให้ลมโกรก คงไม่เป็นอะไร และช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม และช่องรายการของเคเบิลทีวี ก็ให้หาโฆษณาได้ 6 นาที/ชั่วโมง แต่ช่องรายการธุรกิจ 24 ช่องของน้องทีวีดิจิตอล ก็ให้โฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง นี่คือการเตรียมการของ กสท. ที่ทำเพื่อน้องคนเล็ก ทั้งๆ ที่น้องคนเล็กทั้ง 2 คน ก็จะมาเป็นคู่แข่งโดยตรงของพี่ๆ ทั้ง 4 คน

ทีวีดิจิตอล ลูกรักของพ่อ

เมื่อพี่ๆ ทั้ง 4 คน เห็นความไม่ยุติธรรมของคุณพ่อ กสท. ถามว่าโกรธพ่อหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าโกรธ และแม้จะได้ทักท้วงคุณพ่อไปหลายครั้งในช่วงทำประชาพิจารณ์ว่า คุณพ่อรักลูกไม่เท่ากัน หากคุณพ่อทำอย่างนี้ ต่อไปพี่ๆ จะอยู่ไม่ได้ แต่คุณพ่อก็ไม่สนใจ พี่ๆ ทั้ง 4 คนก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคุณพ่อเป็นเจ้าของทะเบียนรถ หากพูดมาก ไม่ยอมเอาน้องใส่หลังไปด้วย ไม่แบ่งที่นั่งด้านหน้าให้น้องนั่ง คุณพ่อก็จะไล่ลงจากรถ หรือไม่ก็จะยึดทะเบียนรถของเราไป ทั้งๆ ที่รถคันนี้พ่อไม่ได้จ่ายเงินซื้อให้เราด้วยซ้ำ เราซื้อของเราเอง พ่อเพียงเอาไปขึ้นทะเบียนให้เท่านั้น ส่วนรถของน้อง พ่อซื้อให้ใหม่ ขึ้นทะเบียนให้ด้วย ช่วงแรกน้องขับไม่เป็นยังมาให้เราลากไปอีกด้วย ต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าน้องขับเป็นแล้ว และขับมาเฉี่ยวรถเรา พ่อต้องหาว่าเราขับรถไปชนรถน้อง เราไม่ระวังเอง เราต้องถูกพ่อลงโทษอย่างแน่นอน

คุณพ่อ กสท. รักลูกไม่เท่ากัน

แม้รถของเราจะเป็นรถกระบะเก่าๆ คันเล็กๆ โดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่นรายเล็ก นอกจากรถจะเก่าแล้ว ยังผุอีกต่างหาก บางคนเครื่องเริ่มจะเสียแล้ว ยางต้องเปลี่ยน ไปขอให้พ่อช่วยเปลี่ยนให้ คุณพ่อ ก็บอกว่า ยังใช้ได้อยู่ให้ใช้ต่อไป หากอยากจะเปลี่ยนให้ไปหาเงินเองอย่ามาขอเงินพ่อ หรือหากรถเสียไม่มีเงินซ่อม ก็ให้ทิ้งรถไป เลิกทำเคเบิลท้องถิ่นไปเลย เพราะรถมันเก่าแล้ว ไม่คุ้มที่จะซ่อม พวกเราฟังแล้วก็ช้ำใจ ยิ่งเหลือบมองไปเห็นรถคันใหม่ของน้องที่พ่อซื้อให้ โดยออกคูปอง 690 บาท ราคาตั้ง 15,000 ล้านบาท ทำไมพ่อซื้อให้น้องได้ ของพวกเราแค่ค่าเงินสมทบ 2% ขอให้พ่อลดให้เคเบิลท้องถิ่น เพื่อจะเอามาทำช่องทีวีท้องถิ่น เพื่อเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น พ่อก็ไม่ยอม พ่อบอกว่าให้ไปหาโฆษณาเอาเอง พ่อให้มาแล้ว 6 นาทีต่อชั่วโมงไง เราอยากจะบอกพ่อว่า โฆษณาที่ไหนเขาจะมาลงกับเรา เราเป็นเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ Agency ที่ไหนเขาจะสนใจมาลงโฆษณา เราทำเคเบิลท้องถิ่นมากว่า 30 ปี ยังไม่เคยได้เงินค่าโฆษณาจาก Agency เลยครับคุณพ่อ

พ่อสั่งว่า เป็นพี่ต้องรู้จักเสียสละให้น้อง

สำหรับน้องดิจิตอลทีวี ที่เป็นน้องคนเล็กของเรา พ่อกลับดูแลเป็นอย่างดี พ่อออกรถเฟอร์รารี่ DVBT-2 คันใหม่ให้ แถมสั่งคนขับที่เป็นเสาทีวี (MUX) เพื่อกระจายสัญญาณไปทั่วประเทศ ต้องขับให้ดีๆ ขับนิ่มๆ น้องจะได้นั่งสบาย สัญญาณภาพจะได้คมชัด หากใครขับไม่ดีพ่อก็จะลงโทษ พ่อจัดประมูลเพื่อหาเงินมาซื้อ รถเฟอร์รารี่ DVBT-2 ให้น้องได้เงินมากว่า 50,000 ล้านบาท แต่ทำไมลูกคนแรก คือเคเบิลท้องถิ่น มีรถกระบะคันเก่าใช้มากว่า 20 ปี เป็นระบบ Analog จะขอเงินพ่อมาซื้อรถ เพื่อปรับเป็นระบบ Digital โดยการใช้ระบบ Digital DVB-C พ่อก็ไม่ให้เอาคูปอง 690 บาทมาแลก ลูกคนที่ 2 โทรทัศน์ดาวเทียม ก็มีรถคันเก่าที่เป็นระบบ Digital DVB-S พ่อก็ไม่ให้เอาคูปอง 690 บาทมาแลก โดยพ่อยืนยันว่า แม้พ่อจะจัดประมูลได้เงินมากว่า 50,000 ล้านบาท พ่อสัญญากับน้องคนเล็กไว้แล้วว่า จะซื้อรถเฟอร์รารี่ รุ่น DVBT-2 ให้น้องคนเดียว เงินที่เหลือพ่อจะเอาไว้ใช้เอง ไม่สามารถแบ่งให้ลูกอีก 2 คนได้ ทั้งๆ ที่เวลาพ่อจัดประมูล พ่อมาบังคับให้เคเบิลท้องถิ่น และทีวีดาวเทียม ต้องเอาช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่องของน้องมาร่วมออกอากาศด้วย แถมยังได้ที่นั่ง 11-46 ของเราไปด้วย ที่สำคัญไม่ต้องจ่ายค่านั่งรถเราแม้แต่บาทเดียว คุณพ่อครับรถของเรา เราซื้อมาด้วยเงินของเรานะครับ คุณพ่อไม่ได้ซื้อให้นะครับ และเราก็ไม่อยากให้น้องมานั่งด้วยครับ

ความยุติธรรมอยู่ตรงไหนในวันนี้ลูกเคเบิลท้องถิ่น กับ โทรทัศน์ดาวเทียม เริ่มหันมามองหน้ากัน แล้วถามว่า เราเป็นลูกของคุณพ่อ กสท. หรือไม่ หรือคุณพ่อมองว่าเราเป็นลูกหรือไม่ ทำไมพ่อจึงปฏิบัติกับเราเหมือนกับเราไม่ใช่ลูกของคุณพ่อ ทำไมคุณพ่อจึงไม่ยุติธรรม

เคเบิลท้องถิ่น โทรทัศน์ดาวเทียม ลูกไม่มีพ่อ

เมื่อมาวิเคราะห์ให้ดีจึงเห็นสัจธรรมว่า ความจริงแล้ว เคเบิลท้องถิ่น และ โทรทัศน์ดาวเทียม เป็นลูกของ คุณพ่อ กสท. จริงๆ แต่เป็นลูกที่ไม่ได้เกิดจาก อสุจิของคุณพ่อ เราเป็นเพียงลูกของคนข้างบ้าน ที่เกิดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครจะรับเลี้ยง คุณพ่อ กสท. จึงถูกบังคับให้เอาเรามาเลี้ยง ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณพ่อก็ไม่อยากเอาเรามาเลี้ยงให้เสียข้าวสุกเลย เพราะลูก 2 คนนี้เป็นลูกไม่มีพ่อ แม้เดิมจะเข้าใจว่า กรมประชาสัมพันธ์เป็นพ่อ แต่เมื่อมาพิสูจน์จริงๆ แล้ว กรมประชาสัมพันธ์เป็นหมัน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้ จึงไม่สามารถจดทะเบียนรับเป็นพ่อได้ ลูก 2 คนนี้จึงถูกมองว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ เป็นลูกของคนไม่ดีมาก่อน เพราะเคยเป็นเคเบิลเถื่อน และโทรทัศน์ดาวเทียมเถื่อน คุณพ่อ กสท. ถูกบังคับให้รับมาเลี้ยง การที่ยอมจดทะเบียนรับเป็นลูก โดยออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้ก็บุญโขแล้ว

ลูกแท้ ลูกเทียม คือคำตอบ

ส่วนทีวีดิจิตอล เป็นลูกของ กสท. ที่เกิดจาก อสุจิของคุณพ่อจริงๆ เป็นลูกแท้ๆ ไม่ใช้ลูกของคนอื่น ที่รับเอาของเขามาเลี้ยงอย่าง เคเบิลท้องถิ่น หรือ โทรทัศน์ดาวเทียม จึงสามารถเข้าใจได้ว่า ทำไม คุณพ่อ กสท. จึงรักลูกไม่เท่ากัน

พินัยกรรมคุณปู่ เขียนไว้อย่างไร

เมื่อเราไม่ได้รับความยุติธรรมจากพ่อ เราจึงไปดูคำสั่งของคุณปู่ ที่ได้เขียนไว้ก่อนตาย ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 47 ให้คุณพ่อคนใดก็ตามที่มีวาสนาได้เป็น กสท. ต้องมีหน้าที่ดูแลลูกทุกคนไว้อย่างไร เราจึงพบว่า คุณปู่ได้เขียนพินัยกรรมไว้อย่างยุติธรรม แต่คุณพ่อ ไม่ทำตามพินัยกรรมของคุณปูดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550

มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อสารมวลชนสาธารณะ

การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

คุณพ่อ กสท. ไม่ทำตามพินัยกรรมของคุณปู่

หากได้อ่านพินัยกรรมของคุณปู่ จะมีคำสำคัญที่คุณปู่เขียนไว้ เช่น "ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น" และ "การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม" และเมื่อมาดูการนำไปปฏิบัติของคุณพ่อ ที่ให้สิทธิดิจิตอลทีวี อย่างมากมาย เป็นการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม อย่างไร และผลของการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของคุณพ่อเช่นนี้ จะทำให้เคเบิลท้องถิ่น โดยเฉพาะรายเล็กต้องตายไป เพราะสู้น้องดิจิตอลทีวีไม่ไหว แล้วประโยชน์ของประชาชนในระดับท้องถิ่น หายไปไหน ทำไมคุณพ่อไม่สนใจ คุณพ่อหวังแต่ประโยชน์ของประชาชนในระดับชาติ ส่วนจะมาอ้างว่ามีทีวีชุมชนของดิจิตอลทีวีแล้ว ความจริงจะหวังอะไรได้จากทีวีชุมชน ในเมื่อวันนี้ ช่องท้องถิ่นของเคเบิลท้องถิ่น คือทีวีชุมชนที่แท้จริง ที่ทำเพื่อคนท้องถิ่นจริงๆ กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากคุณพ่อ กสท. จะไปหวังน้ำบ่อหน้า โดยถมบ่อน้ำที่เห็นอยู่ตรงหน้าได้อย่างไร

สมาคมของเคเบิลท้องถิ่น และสมาคมของ โทรทัศน์ดาวเทียม จะเอาอย่างไรดี

เรื่องที่คุณพ่อรักลูกไม่เท่ากัน คุณพ่อไม่ทำตามพินัยกรรมของคุณปู่ เราจะไปเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากใครได้ หรือต้องไปหาคุณปู่ข้างบ้าน ที่เป็นศาลปกครอง คนทั่วไปจะหาว่าเราเป็นลูกอกตัญญูหรือไม่ หรือคุณพ่อจะไล่เราออกจากบ้านก่อนที่จะไปหาคุณปู่ศาลปกครองหรือไม่ ช่วยกันคิดหน่อยครับ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการค้าเคเบิลทีวี สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) และชมรมผู้ประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ตัวแทนของลูกที่เขาเอามาเลี้ยงทั้งหลาย

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด