imgArticle-04

กสท. จะยึดตำแหน่งช่อง 1-10 ใครจะทำไม

ดิจิตอลทีวี ลูกรักของ กสท.

กสท. มีนโยบายที่จะสนับสนุนดิจิตอลทีวีอย่างเต็มรูปแบบ ชนิดที่ดิจิตอลทีวี เป็นลูกรัก และเป็นลูกแท้ๆ ที่เกิดจากการความรักและความตั้งใจที่ กสท. ชุดนี้ ต้องการทำให้เกิดขึ้นมาให้ได้ ใครจะมาขวางทางก็ไม่ยอม ต่างจาก เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ที่เป็นลูกเลี้ยงที่ กสท. ชุดนี้ถูกบังคับให้เอามาเลี้ยง ใครจะทำอะไรก็เชิญตามสบาย นิยายน้ำเน่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของสังคมไทย ระหว่างลูกเลี้ยงกับลูกแท้ๆ ที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่น่าจะมีความยุติธรรม จึงถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อำนวยการสร้างโดย กสท. ชุดนี้

การเตรียมการของ กสท. เพื่อรองรับ ดิจิตอลทีวี

ทุกคนทราบอยู่แล้วว่า ดิจิตอลทีวีจะมี 48 ช่อง แบ่งออกเป็นทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ทีวีชุมชน 12 ช่อง และทีวีธุรกิจ 24 ช่อง หากทีวีดิจิตอลจะมีเพียง ทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน เรื่องคงจะไม่ยุ่งยากเท่าไร เพราะหาก กสท. มองว่าช่องทีวีทั้ง 2 กลุ่ม ยังมีการเปิดให้บริการกับประชาชนน้อยเพราะไม่สามารถหาประโยชน์จากการโฆษณาได้ ก็สามารถเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นได้ และออกกฎบังคับให้ โครงข่ายเคเบิลทีวี กับโครงข่ายดาวเทียม ต้องนำช่องรายการดังกล่าวไปเผยแพร่ร่วมกับช่องรายการอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน และช่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางการค้าในการหาโฆษณาแข่งกับช่องรายการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นเลย

ช่องทีวีทางธุรกิจมีกว่า 800 ช่อง ยังไม่พอ

แต่เมื่อ กสท. มองว่าช่องทีวีธุรกิจในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ กสท. แล้วกว่า 800 ช่อง ยังมีการแข่งขันไม่เพียงพอ ต้องเปิดเพิ่มขึ้นอีก 24 ช่อง เพื่อลดการผูกขาด และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และการที่จะให้ช่องทีวีธุรกิจทั้ง 24 ช่อง สามารถอยู่ได้ กสท. ต้องมีการเตรียมแผนการไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้การจัดการประมูลช่อง มีผู้เข้าร่วมประมูลหลายราย และมีรายได้จากการประมูลที่สูง เพื่อนำรายได้เข้ารัฐ

กสท. ควรปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเอง

หากการให้บริการดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล มีการดำเนินการไปตามปกติ ช่องรายการทั้ง 48 ช่อง จะสามารถเปิดให้บริการผ่านระบบเสาก้างปลาภาคพื้นดินได้ โดยประชาชนที่ต้องการรับชมจะต้องซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาติดตั้งเพื่อรับชมช่องรายการ เหมือนกับโครงข่ายจานดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี หากประชาชนต้องการรับชมช่องรายการของทั้ง 2 โครงข่าย ประชาชนจะต้องเสียค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรับสัญญาณเอง หาก กสท. ดำเนินการเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 โครงข่ายก็จะมีการแข่งขันกันอย่างเสรี ไม่มีใครได้เปรียบใคร และ กสท. ก็ปล่อยให้เอกชนมีการแข่งขันกันตามปกติ

กสท. ต้องการช่วยดิจิตอลทีวี เป็นการเฉพาะ

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ กสท. ไม่ต้องการให้ ช่องดิจิตอลทีวี 48 ช่อง เผยแพร่ได้เฉพาะบนโครงข่ายภาคพื้นดินเท่านั้น เพราะในวันที่มีการจัดประมูลช่องรายการทางธุรกิจ 24 ช่อง ไม่มีใครสามารถรับชมระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินได้ เพราะระบบส่งสัญญาณยังไม่มี และยังไม่พร้อมที่จะให้บริการ คาดว่าต้องใช้เวลา 4 ปี จึงจะสามารถขยายการให้บริการได้ทั่วประเทศ ดังนั้นหากจัดให้มีการประมูลโดยผู้ที่ประมูลช่องได้ สามารถออกอากาศได้เฉพาะในระบบดิจิตอลภาคพื้นดินเพียงระบบเดียว คงจะหาคนเข้าร่วมประมูลได้ยาก ที่สำคัญราคาประมูลจะต่ำมาก เพราะในวันนั้น ประชาชนคนไทยกว่า 70% รับชมรายการทีวีผ่านระบบจานดาวเทียมและระบบเคเบิลทีวีได้กว่า 150 ช่อง จะมีเพียง 30% เท่านั้น ที่ดูทีวีภาคพื้นดินในระบบอนาล็อคได้ 6 ช่อง ซึ่งคนที่จะหันมาดูดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล น่าจะเป็นคนที่ดูทีวีภาคพื้นดินในระบบอนาล็อคเท่านั้น แต่เมื่อระบบทีวีภาคพื้นดินดิจิตอลยังไม่เกิด ประชาชนยังไม่มีกล่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน แสดงว่า ในวันที่ทีวีดิจิตอลเปิดให้บริการ จะยังไม่มีใครในประเทศไทยสามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวี ผ่านระบบภาคพื้นดินได้ หาก กสท. ปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามธรรมชาติเช่นนี้ วงเงินที่ประมูลคลื่นความถี่ที่ได้น่าจะไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 50,000 ล้านบาทเช่นทุกวันนี้

การจัดสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อเอื้อให้ทีวีดิจิตอลสามารถเกิดได้น่าจะมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนดังนี้

1) ออกกฎให้ มีการจัดผังช่องรายการโดยผู้ประกอบกิจการทุกโครงข่าย ก่อนที่จะเปิดให้บริการต้องได้รับการอนุมัติจาก กสท. ก่อน จึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้แต่ละโครงข่ายดำเนินการโดย กสท. ไม่รับทราบไม่ได้

2) ออกกฎให้มีช่องโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป โดยกำหนดให้ช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อค (3,5,7,9,Nbt และ ThaiPBS) เป็นช่องรายการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไปในทุกระบบการรับชมทีวี ซึ่งหมายความว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลทีวี จานดาวเทียม ต้องนำช่องรายการทั้ง 6 ช่องไปร่วมเผยแพร่ด้วย (ไม่ได้กำหนดว่า แต่ละช่องดังกล่าวจะต้องถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งช่องใด) การกำหนดกติกาไว้เช่นนี้ ทั้งโครงข่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ต่างไม่มีใครคัดค้าน เพราะโดยปกติก็นำช่องทีวีภาคพื้นดินระบบอนาล็อค 6 ช่องมาเผยแพร่อยู่แล้ว และโดยธรรมชาติก็จะจัดเรียงช่องเป็น 3,5,7,9,Nbt และ ThaiPBS อยู่แล้ว

3) ประกาศว่าจะทำช่องดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน 48 ช่อง แทนระบบอนาล็อค 6 ช่องเดิม แบ่งออกเป็น

  • ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง โดยให้อยู่ในตำแหน่งช่องที่ 1-12
  • ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง โดยให้อยู่ในตำแหน่งช่องที่ 13-36
  • ช่องทีวีชุมชน 12 ช่อง โดยให้อยู่ในตำแหน่งช่องที่ 37-48

4) ออกกฎ โดยกำหนดให้ดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน เป็นช่องรายการที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไป เป็นการออกกฎเพื่อให้บริการแทนระบบอนาล็อคเดิม นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทั้งเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม จากเดิมที่ต้องเปิด 6 ช่อง ต้องมาเปิด 48 ช่อง โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงคือต้องการให้ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง ทุกดครงข่ายต้องนำไปออกอากาศในผังช่องรายการของตนเอง

5) ออกกฎ การจัดหมวดหมู่ช่องรายการ โดยกำหนดให้ช่องรายการในหมวดโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไป ผู้ประกอบกิจการทุกโครงข่ายจะต้องจัดช่องรายการ ไว้ในหมวดหมู่ที่ 1 โดยให้ 10 ช่องแรก (1-10) เป็นช่องรายการที่แต่ละโครงข่ายสามารถจัดเรียงช่องเองได้ นั่นหมายความว่า กลุ่มช่องรายการดิจิตอลทีวี 36 ช่องแรก (ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง + ทีวีธุรกิจ 24 ช่อง) จะถูกจัดเรียงไว้ในโครงข่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ที่ตำแหน่งช่องที่ 11-46 นั่นเอง ส่วนช่องรายการอื่นๆ ของ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ต้องอยู่ในช่องที่ 47 เป็นต้นไป กฎดังกล่าว เป็นการยึดตำแหน่งช่องรายการของ เคเบิลทีวีและจานดาวเทียม ไปให้ดิจิตอลทีวี โดยได้ตำแหน่งช่องที่ 11-46 โดยดิจิตอลทีวี ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆให้กับ โครงข่ายเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบกิจการโครงข่ายเคเบิลทีวี และจานดาวเทียม รวมทั้งเป็นการเอาเปรียบช่องรายการของเคเบิลทีวีและช่องรายการระบบจานดาวเทียม ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ในการนำช่องรายการมาเผยแพร่

ในการจัดเรียงช่องดังกล่าว หากเป็นการจัดเฉพาะช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ก็น่าจะไม่มีใครว่า เพราะเป็นกลุ่มช่องที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่มีการหาโฆษณาทางการค้า แต่การสอดไส้ให้ทีวีธุรกิจ 24 ช่อง กลายเป็นช่องที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไปด้วย เป็นการจงใจสอดไส้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนที่เข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอล ให้สามารถเปิดบริการได้ในทุกโครงข่ายโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม กฎการเรียงช่องที่ออกมาเป็นการยกเอาภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปให้โครงข่ายเคเบิลทีวี และดาวเทียม เป็นผู้รับภาระแทน ที่สำคัญช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจดังกล่าว เป็นช่องรายการเพื่อการค้า สามารถหาโฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง ทำไม กสท. จึงต้องบังคับให้โครงข่ายอื่นๆ ต้องนำไปเผยแพร่ด้วย ขณะที่ช่องรายการทางธุรกิจของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ต่างสามารถให้บริการได้เฉพาะในโครงข่ายของตนเอง หากต้องการให้บริการนอกโครงข่ายของตนเอง จะต้องไปเจรจาทางธุรกิจกับโครงข่ายที่ต้องการนำช่องรายการไปเผยแพร่เอง การออกกฎ และการสอดไส้เช่นนี้ จึงเป็นการเอื้อให้เอกชนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง และเป็นการเอาภาระของเอกชนกลุ่มหนึ่งไปให้เอกชนอีกกลุ่มหนึ่งรับภาระ และผลประโยชน์ที่ได้นี้ ถูกแปลเปลี่ยนไปเป็นราคาประมูลช่องดิจิตอลทีวี 24 ช่องที่สูงขึ้น เพราะแทนที่จะมีราคาไม่เกิน 15,000 ล้านบาท กลายเป็น 50,000 บาท

ตำแหน่งช่องรายการมีราคา

จัดให้มีการประมูลช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องมีการแบ่งออกเป็น การให้บริการระบบ SD จำนวน 17 ช่อง และให้บริการระบบ HD จำนวน 7 ช่อง โดยผู้ที่ให้ราคาประมูลสูง จะได้เลือกตำแหน่งช่องรายการก่อน นั่นแสดงว่า ตำแหน่งช่องรายการมีความสำคัญต่อการประกอบกิจการโทรทัศน์ ซึ่งทุกคนทราบเรื่องนี้ดี ดังนั้น กสท. จึงต้องกำหนดให้กลุ่มดิจิตอลทีวีอยู่ในหมวดแรก (ช่องที่ 11-46) ของทุกโครงข่าย และใครที่ประมูลในราคาสูงกว่าจะได้เลือกตำแหน่งช่องก่อน

ให้โครงข่ายดิจิตอลทีวีได้ใช้คูปอง 690 บาทเพียงโครงข่ายเดียว

ออกกฎให้คูปอง 690 บาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนนำไปใช้เป็นส่วนลด ในการและซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดินระบบดิจิตอล หรือเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีระบบดิจิตอลในตัวเครื่อง โดยใช้เงินกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน โดยไม่อนุญาตให้นำคูปอง 690 บาท ไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อ กล่องรับสัญญาณดิจิตอลของเคเบิลทีวี และจานดาวเทียม ที่สามารถรับช่องรายการดิจิตอลทีวีได้เช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ เป็นการสนับสนุนให้โครงข่ายดิจิตอลทีวี ได้เปรียบโครงข่ายเคเบิลทีวี และจานดาวเทียม ทั้งๆ ที่ทั้ง 3 โครงข่ายเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรง แต่ กสท. ไปสนับสนุนโครงข่ายดิจิตอลทีวีเพียงรายเดียว เป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับ เคเบิลทีวีและจานดาวเทียม ที่ถูกบังคับให้ต้องนำช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องไปออกอากาศ

ค่าประมูล 35,000 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้น เอามาจากเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม

ด้วยกฎและระเบียบต่างๆ ที่ กสท. ออกมาเพื่อสนับสนุนให้ดิจิตอลทีวี สามารถให้บริการได้ในทุกโครงข่าย ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมการประมูลช่องดิจิตอลทีวี จึงสามารถสร้างราคาได้เพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านบาท กลายเป็น 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะ กสท. ออกกฎให้เงินสนับสนุนกล่องดิจิตอลทีวี 15,000 ล้านบาท เอาทรัพยากรช่องรายการของโครงข่ายจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไปสนับสนุนกลุ่มดิจิตอลทีวีอีก 35,000 ล้านบาท นั่นเอง หาก กสท. ไม่ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเบียดบังเอาทรัพยากรของโครงข่ายเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมไปให้ดิจิตอลทีวี รับรองว่าราคาประมูลช่องดิจิตอลทีวีจะไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน

ยึดช่อง 1-10 เป็นแผนได้คืบจะเอาศอก

ในวันนี้ กสท. กำลังจะออกกฎใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ให้ ดิจิตอลทีวี เพิ่มขึ้น โดยจะยกเลิกกฎการเรียงช่อง 11-46 ของเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม และออกกฎใหม่ ให้เคเบิลทีวีและจานดาวเทียม ต้องจัดเรียงช่องทีวีสาธารณะ และทีวีธุรกิจ ไว้ที่ตำแหน่ง 1-36 นั่นคือ การยึดตำแหน่งช่อง 1-10 ของเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม เพื่อเอาไปสนับสนุนช่องทีวีธุรกิจของดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้น เป็นที่ทราบโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ลำดับช่องรายการต้นๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในวงการโฆษณา และยิ่งลำดับที่ 1-10 ยิ่งมีมูลค่าสูงมากเป็นพิเศษ ในครั้งแรกที่ กสท. ยึดตำแหน่งช่องที่ 11-46 ไป โครงข่ายเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม ก็ไม่ว่าอะไร ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อคไปสู่ระบบดิจิตอล ของโครงข่ายภาคพื้นดินของ กสท. ที่สำคัญช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่อง ต่างรู้ดีก่อนการเข้าร่วมประมูลช่องแล้วว่า กลุ่มของตนเองจะถูกจัดเรียงช่องในตำแหน่งที่ 23-46 การที่ กสท. จะยกเลิกกฎเดิม และเปลี่ยนให้มาอยู่ในตำแหน่งช่องที่ 13-36 จึงเป็นการให้ประโยชน์ช่องดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้น และเป็นการยึดทรัพย์ที่สำคัญของโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม และเป็นการแย่งตำแหน่งช่อง 1-10 ของช่องรายการโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ที่เคยเปิดให้บริการกับสมาชิกมาเป็นเวลานาน

โครงข่ายดิจิตอลทีวี เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงหรือ

แสดงว่า การออกกฎต่างๆ ของ กสท. ไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบ หรือความเสียหายของผู้ประกอบกิจการรายอื่น กสท. มุ่งสู่ผลสำเร็จด้านเดียวว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยสนับสนุนให้ระบบดิจิตอลทีวีภาคพื้นดินสามารถเป็นระบบการให้บริการหลักของประเทศให้ได้ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน ระบบการให้บริการโทรทัศน์หลักของประเทศ เป็นการให้บริการผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ที่สำคัญก็เป็นการให้บริการระบบดิจิตอล โดยไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเลย ทำไม กสท. จึงไม่หันมาสนับสนุนให้ประชาชน หันมารับบริการโทรทัศน์ในระบบโครงข่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ที่มีอยู่เดิมอยู่แล้ว ทำไมต้องออกกฎต่างๆ เพื่อเอาคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ มาแข่งขันกับเอกชน และออกกฎให้เอกชนกลุ่มหนึ่งได้สิทธิประโยชน์มากกว่าเอกชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญออกกฎยึดเอาทรัพยากรของเอกชนกลุ่มหนึ่ง ไปให้เอกชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากันโดยจงใจ

ความเป็นธรรมของ กสท.

จนถึงวันนี้คงไม่ต้องถามแล้วว่า กสท. ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ ให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมเพียงใด ระหว่าง

  • 1) ช่องรายการดิจิตอลทีวี กับช่องรายการเคเบิลทีวี กับช่องรายการจานดาวเทียม
  • 2) โครงข่ายดิจิตอลทีวี กับโครงข่ายเคเบิลทีวี กับโครงข่ายจานดาวเทียม

ลูกรัก กับ ลูกชัง

ต่อไปหากช่องดิจิตอลทีวีทางธุรกิจ 24 ช่อง อยากได้อะไรจาก เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมอีก ก็จะไปออดอ้อน ร้องไห้งอแง ให้ กสท. รำคาญ และเมื่อเห็นว่าลูกรัก ดิจิตอลทีวีเดือดร้อน ลูกรักอยากได้อะไร คุณพ่อก็จะออกกฎใหม่มายกเลิกกฎเก่าอีกครั้ง เพื่อให้ลูกรักได้สิ่งที่ต้องการจาก เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมอีก โดยไม่คำนึงว่า ลูกชังอีก 4 คนจะรู้สึกอย่างไร

ลูก 4 คนแรกของ กสท. ต้องทำใจ

การประกาศยึดตำแหน่งช่อง 1-10 ของ กสท. จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า โครงข่ายเคเบิลทีวี ลูกคนที่ 1 โครงข่ายดาวเทียม ลูกคนที่ 2 ช่องรายการเคเบิลทีวี ลูกคนที่ 3 ช่องรายการดาวเทียม ลูกคนที่ 4 ทุกคนต้องทำใจให้ได้ จนถึงวันนี้แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะมีเหตุผลดีอย่างไร ไม่ว่ากฎที่ออกมาจะไม่เป็นธรรมอย่างไร กสท. ชุดนี้ก็จะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตาม กระบวนการ และขั้นตอนของกฎหมาย โดยมุ่งเน้นให้ได้ผลสรุปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เท่านั้น ใครอยากแข่งขันในเวทีนี้ ก็ต้องทำใจ หากทำใจไม่ได้ ก็ให้ออกไปจากวงการนี้ หรือไม่ก็ต้องไปพึ่งศาลปกครองเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "ใจที่เป็นธรรม" และ "ธรรมาภิบาล" ของ กสท. ชุดนี้ล้วนๆ

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด