articleCover

คูปอง 690 บาทของ กสทช. วิกฤติหรือโอกาสของ เคเบิลท้องถิ่น

กสทช. แจกคูปอง 690 บาทแล้ว

วันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อ กสทช. ได้ส่งคูปอง 690 บาท ไปถึงบ้านสมาชิกใน 21 จังหวัดนำร่องกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน และประชาชนจะสามารถนำคูปองดังกล่าว ไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่อง DVB-T2 ของ กสทช. ได้ในช่วง วันที่ 20 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป โดยคูปองชุดแรกนี้จะหมดอายุในวันที่ 31พฤษภาคม 2558 ในช่วงเดือนตุลาคม 2557 เท่าที่ตรวจสอบในตลาด มีกล่อง DVB-T2 ให้ประชาชนเลือกซื้อประมาณ 20 ราย จากที่ได้รับอนุญาต 42 ราย โดยมีราคาขายตั้งแต่ 1,000 - 1,600 บาท/กล่อง ขึ้นอยู่กับบริการเสริมต่างๆ ที่มีในแต่ละยี่ห้อ นั่นหมายความว่าหากประชาชนเอาคูปองไปแลกซื้อ จะต้องเพิ่มเงิน 300 – 900 บาท และต้องนำไปติดตั้งเองที่บ้านซึ่งไม่รู้ว่า เสาอากาศรุ่นใดจะเหมาะที่จะใช้ในบ้านประเภทใด และหันเสาไปในทิศทางใด ซึ่งคงจะเป็นปัญหาต่อไปของประชาชนที่จะเลือกซื้อกล่อง DVB-T2 แล้วเอาไปติดตั้งเอง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรุงเทพ และอยู่ตามอาคารสูง และตำแหน่งอาคารที่หันหลังให้กับอาคารใบหยก จะทำอย่างไร

คูปอง 690 บาทจะกระทบกับเคเบิลท้องถิ่นหรือไม่

ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น คงไม่ต้องไปสนใจว่าบ้านใดจะได้รับคูปอง บ้านใดจะไม่ได้รับคูปอง เพราะเป็นปัญหาระยะสั้น ที่สำคัญบ้านที่เป็นสมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นทุกราย ต้องได้รับคูปองอย่างแน่นอน เพราะบ้านทุกหลังจะมีคนอยู่บ้านจริงๆ หรือถ้าจะไม่ได้รับหรือรับมาแล้วไม่พอ เชื่อว่าสมาชิกมีเงินไปซื้อกล่อง DVB-T2 มาติดเพิ่มเติมอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือช่องทีวีดิจิตอล 48 ช่องในวันนี้ดูได้ 27 ช่อง มีคุณภาพช่องรายการดีพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือผู้ที่เป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นหรือไม่ หรือดีพอที่สมาชิกเคเบิลท้องถิ่นจะยกเลิกการเป็นสมาชิกแล้วหันไปดูทีวีดิจิตอล 48 ช่องของ กสทช. หรือไม่

เคเบิลท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์จากคูปอง 690 บาท

วันนี้เคเบิลท้องถิ่นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด (350 ราย) มีสมาชิกผู้รับชมประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน มีการให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบ Analog 60 – 90 ช่องโดยมีคุณภาพสัญญาณต่ำกว่าระบบ Digital ทั้งที่เป็น SD และ HD จะมีบางรายที่เป็นรายใหญ่ระดับจังหวัดที่มีประมาณ 15 – 20 รายเท่านั้น ที่มีการให้บริการระบบ Digital ควบคู่ไปกับระบบ Analog และมีไม่กี่รายที่ทำระบบ HD และเกือบทั้งหมด เป็นการให้บริการในระบบ DVB-C ที่ไม่สามารถเอาคูปอง 690 บาทของ กสทช. มาแลกเป็นส่วนลดในการซื้อกล่อง DVB-C ได้

จานดาวเทียมเคยแย่งลูกค้าเคเบิลท้องถิ่นมาแล้ว

ในอดีต เคเบิลท้องถิ่น (ใช้ระบบ Analog) เคยถูกคู่แข่งคือจานดาวเทียม (ใช้ระบบ Digital DVB-S) เข้ามาแย่งฐานสมาชิก เพราะสามารถรับชมช่องรายการได้ชัด เกือบ 200 ช่องโดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน แต่เสียค่าติดตั้ง 2,500 - 3,500 บาท ก็สามารถรับชมช่องรายการต่างๆ ได้ ซึ่งช่วงเวลานั้นเคเบิลท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมากพอสมควร เพราะมีสมาชิกบางส่วนได้ยกเลิกการเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น แล้วหันไปติดตั้งจานดาวเทียมแทน เพราะมีช่องรายการเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของสมาชิกกลุ่มนั้นได้ แต่การติดตั้งจานดาวเทียม เคเบิลท้องถิ่นพอจะสู้ได้ เพราะการติดตั้งจานดาวเทียม มีปัญหาคือ ฝนตกภาพหาย ถ่ายทอดสดจอดำ ช่องรายการไม่มีคุณภาพ สมาชิกต้องจ่ายเงินซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมเอง และทีวีทุกเครื่องต้องติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทุกจุด

ทีวีดิจิตอล กสทช. น่ากลัวกว่าจานดาวเทียม

ในวันนี้ กสทช. แจกคูปอง 690 บาท เพื่อเป็นส่วนลดให้กับผู้ที่ต้องการดูทีวีดิจิตอล 48 ช่องของ กสทช. โดยมีช่องรายการให้ชมทั้ง ระบบ SD และ HD ซึ่งช่องรายการน่าจะมีคุณภาพดีกว่าช่องรายการในกลุ่มจานดาวเทียมในอดีต ซึ่งการแจกคูปองในครั้งนี้จะมีผลกระทบกับการเติบโตของกลุ่มจานดาวเทียมอย่างแน่นอน แต่จะกระทบกับกลุ่มเคเบิลท้องถิ่นเพียงใดขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเคเบิลท้องถิ่นแต่ละราย เพราะวันนี้จุดอ่อนของจานดาวเทียมถูกแก้ไขหมดแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก การติดตั้งกล่อง DVB-T2 ฝนตกภาพไม่หาย ถ่ายทอดสดจอไม่ดำ ช่องรายการมีคุณภาพ สมาชิกไม่ต้องจ่ายค่ากล่อง DVB-T2 หรือจ่ายน้อยมาก

เคเบิลท้องถิ่นสู้ด้วยช่องรายการใต้ดิน

หากเคเบิลท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า ความคมชัดของสัญญาณภาพในระบบ Analog ที่มีช่องรายการ 60 – 90 ช่องในปัจจุบัน แม้สัญญาณภาพจะไม่คมชัดเท่าระบบ Digital แต่หากมีคุณภาพช่องรายการที่ดี หรือมีช่องรายการท้องถิ่นที่ดี จะสามารถรักษาฐานสมาชิกไว้ได้ เพราะการมีช่องรายการที่ดีในเวลานี้คือ การเอาภาพยนตร์ในร้าน VDO มาเปิด หรือเอาภาพยนตร์มาเปิดตามคำขอ หรือเอาช่องรายการลิขสิทธิ์อื่นๆ จากต่างประเทศมาเปิด โดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง จะสามารถทำต่อไปได้ในระยะยาว เพราะเป็นความสามารถส่วนตัวและความกล้าของผู้บริหารเคเบิลท้องถิ่นแต่ละราย ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในระยะยาว เพราะ กสทช. คงไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้แน่

หากพิจารณาเป็นเรื่องๆ

1) ความคมชัดของสัญญาณภาพ หากเคเบิลท้องถิ่นยังมีความเชื่อว่า ระบบ Analog สัญญาณภาพมีความคมชัดดีเพียงพอที่สมาชิกจะดูแล้ว จะไปดูระบบ SD หรือ HD ของ DVB-T2 ทำไม ในวันนี้แม้จะติดตั้งระบบ Digital (DVB-C) ไปแล้ว สมาชิกยังดูระบบ Analog อยู่เลย ที่สำคัญระบบ Digital ของจานดาวเทียมก็ไม่ต่างจากสัญญาณในระบบ Analog ของเคเบิลท้องถิ่นเท่าไร โดยเฉพาะช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช. ในกล่องจานดาวเทียมหรือกล่อง CTH หรือกล่อง True Vision คุณภาพไม่เท่าไหร่ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ ส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น หากมาดูช่องทีวีดิจิตอลในระบบเสาอากาศทีวี จะพบว่าคุณภาพของสัญญาณมีความคมชัดต่างกันมากทั้งในระบบ SD และ HD โดยเฉพาะช่องรายการในระบบ HD จะมีความคมชัดยิ่งกว่าชัด

ในปี 2558 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการติดตั้งกล่อง DVB-T2 กันมากขึ้น ความคมชัดของสัญญาณจะเริ่มปรากฎชัดในสายตาของประชาชน และเมื่อสมาชิกเคเบิลทีวีกลับมาบ้าน เห็นสัญญาณภาพในระบบ Analog ที่เคยคุ้นชินมานาน สมาชิกจะพบความจริงว่า ความคมชัดของสัญญาณในระบบ Analog ไม่เพียงพอ ความคิดที่จะหันไปใช้กล่อง DVB-T2 ก็จะเกิดขึ้น เมื่อลองใช้ไปก็จะติดใจ เพราะติดใจในความคมชัด วันนั้นจะเป็นวันที่อันตรายของเคเบิลท้องถิ่นในระบบ Analog และต่อไปจะลามไปถึงความคมชัดในระบบ Digital ที่เคเบิลท้องถิ่นมองว่า การใช้กล่อง SD ก็เพียงพอ ซึ่งความจริงการใช้งานของกล่อง SD น่าจะใช้ได้อีกไม่เกิน 1 ปี สุดท้ายต้องเปลี่ยนทิ้งทั้งหมดเมื่อประชาชนได้ดูในระบบ HD จะช้าหรือเร็วเท่านั้น หากเคเบิลท้องถิ่นยังมองว่า ความคมชัดของระบบ Analog เหมาะสมเพียงพอกับสมาชิกแล้ว ลองกลับไปคิดใหม่อีกครั้งก่อนจะสายเกินไป

2) คุณภาพช่องรายการ จุดเด่นของช่องรายการเคเบิลท้องถิ่นในเรื่องนี้ยังมีมาก เพราะสามารถเลือกเอาช่องรายการดีๆ จากระบบต่างๆ มาเผยแพร่ในระบบเคเบิลท้องถิ่นได้ ทั้งรายการฟรีทีวีของ กสทช. รายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม รายการที่ขายลิขสิทธิ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รายการที่เอามาใช้โดยความสามารถเฉพาะตัว และรายการข่าวท้องถิ่น นี่คือความแตกต่างที่เคเบิลท้องถิ่นต้องมี เพื่อให้สมาชิกยอมจ่ายค่าบริการรายเดือน 300 – 350 บาท/เดือน ต่อไป

ในช่องรายการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จุดสำคัญของเคเบิลท้องถิ่น ที่รายอื่นสู้ไม่ได้คือ ช่องที่ได้มาโดยความสามารถเฉพาะตัว ต่อไปจะทำได้อีกนานเท่าไร เคเบิลท้องถิ่นพร้อมจะสู้คดีในศาลหรือไม่ กสทช. จะเอาจริงในเรื่องนี้เมื่อไหร่ และหากทำไม่ได้อะไรคือจุดที่จะเอามารักษาฐานสมาชิก ส่วนช่องข่าวท้องถิ่นที่ผลิตได้คุณภาพดีเพียงพอที่สมาชิกจะต้องดูจริงๆ หรือไม่ ลองถามตัวเองแบบตรงไปตรงมาดู

วันนี้ช่องทีวีดิจิตอลใช้งบประมาณ 500 - 1,500 ล้านบาท/ช่อง/ปี ในการทำคุณภาพช่องรายการให้ดี ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าช่องทีวีดิจิตอลไม่มีราคา ไม่น่าสนใจ เพราะช่องทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่เจ้าของช่องมีเงินทั้งนั้น ทุกคนพร้อมที่จะเข้ามาสู้ศึกในครั้งนี้ ดังนั้นสุดท้ายช่องทีวีดิจิตอลจะต้องดีแน่นอน แต่จะดีเพียงพอที่ผู้ที่เป็นสมาชิกเคเบิลจะพอใจที่จะดูเท่านี้ หรือยังไม่พอใจจนต้องมาจ่ายเงินเพิ่ม 300 – 350 บาท/เดือน ให้กับเคเบิลท้องถิ่น และเคเบิลท้องถิ่นมีอะไรให้สมาชิกดูมากกว่า จนเพียงพอที่สมาชิกจะต้องมาจ่ายเงินเพิ่มเติม ลองถามตัวเองดู

ส่วนการทำรายการข่าวท้องถิ่นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมของผู้บริหารเคเบิลหลายรายที่พยายามปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ช่องรายการข่าวท้องถิ่นไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือให้การสนับสนุนใดๆ จาก กสทช. เพราะการจะทำช่องรายการท้องถิ่นดีๆ สัก 1 ช่อง ความจริงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 – 3 ล้านบาท/เดือน แต่ในวันนี้เคเบิลท้องถิ่นใช้เงินส่วนตัว สนับสนุนช่องข่าวท้องถิ่นประมาณ 50,000 - 500,000 บาท/เดือน เท่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ ซึ่งเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และค่าแรงพนักงานในผลิตรายการในแต่ละท้องถิ่น ไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากที่อื่นมาให้บริการกับสมาชิก หากจะเป็นรายการอื่นๆ ก็เป็นรายการที่ได้มาจากความสามารถเฉพาะตัวของผู้ประกอบกิจการแต่ละรายทั้งนั้น ส่วนเม็ดเงินจากการโฆษณาอย่าไปพูดถึง เพราะไม่มี Agency หน้าไหนจะเอาเงินมาลงโฆษณาในช่องข่าวท้องถิ่นในแต่ละอำเภอ ดังนั้น เงินทุกบาทที่ลงทุนไปในช่องข่าวท้องถิ่นจึงเป็นเงินรายได้ที่เก็บมาจากค่าสมาชิกทั้งนั้น ดังนั้นเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ ในแต่ละท้องถิ่น จึงไม่มีกำลังเงินมาปรับปรุงคุณภาพช่องรายการข่าวท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้ เมื่อเทียบกับช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก มีนักวิชาการหลายคนที่ไปดูช่องข่าวท้องถิ่นในต่างจังหวัดแล้วตำหนิว่า ผลิตรายการไม่ดี ผลิตรายการไม่มีคุณภาพ ตัดต่อภาพไม่ดี เขียนบทไม่เป็น ไม่เป็นมืออาชีพ หรืออะไรอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ไม่เคยมีใครคิดจะช่วยเหลือเคเบิลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ในการปรับปรุงคุณภาพช่องรายการ นอกจาก สสส. ที่ให้การสนับสนุน โดยให้ความรู้และให้เงินรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้เคเบิลท้องถิ่นที่ผลิตรายการดีๆ เพื่อสังคมในแต่ละท้องถิ่นผ่านสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ประมาณปีละ 5 – 10 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ช่องข่าวท้องถิ่นที่มีกว่า 100 ช่อง มีมาตรฐานเพียงพอ เมื่อเทียบกับช่องทีวีดาวเทียมหรือช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช. ที่ได้ทั้งงบผลิตรายการจากเจ้าของช่องและสามารถหาเม็ดเงินโฆษณาจาก Agency ได้ด้วย

3) ความเสถียรของระบบ ระบบเคเบิลท้องถิ่นเป็นการให้บริการทางสายเคเบิล ความเสถียรของระบบอยู่ที่เสาไฟฟ้า และระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ จะมีเคเบิลท้องถิ่นสักกี่รายที่สามารถบริการแก้ไขปัญหาสายเคเบิลขาดในเวลากลางคืนได้ ในขณะที่ระบบเสาอากาศของทีวีดิจิตอล มีความเสถียรในระบบสูงกว่าระบบสายเคเบิลแน่นอน เพราะเป็นการให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่ในอากาศ หากสมาชิกสามารถรับชมได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต่างจากการติดเสาก้างปลา เพราะ ฝนตก ฟ้าร้อง ไฟฟ้าดับ ไม่มีปัญหาในการรับชม

4) จำนวนช่องรายการ นี่คือจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของเคเบิลท้องถิ่น แต่หากทำระบบ Analog จุดนี้จะกลายเป็นจุดอ่อน เพราะเคเบิลท้องถิ่นจะทำได้เพียง 60 – 90 ช่อง เท่านั้น และไม่สามารถเอาช่องทีวีดิจิตอลทั้งหมดของ กสทช. ลงให้บริการกับสมาชิกได้ แม้ กสทช. จะบังคับก็ตาม แต่หากทำในระบบ Digital ไม่ว่าจะทำแบบ SD หรือ HD ก็จะสามารถเพิ่มช่องได้แบบไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับกำลังเงินที่มี ดังนั้นหากจะทำเคเบิลท้องถิ่นต่อไป ต้องทำในระบบ Digital เท่านั้น จึงจะสามารถทำต่อไปได้ในระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้ได้

ทางออกของเคเบิลท้องถิ่นอยู่ตรงใหน

ในช่วง 1 – 2 ปีนี้ เคเบิลท้องถิ่นรายใดไม่คิดทำระบบ Digital ควบคู่ไปกับระบบ Analog คงมีคำตอบให้ตัวเองแล้วว่า จะไม่ฝากอนาคตไว้กับเคเบิลท้องถิ่นอีกแล้ว ในวันนี้ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ มีรายรับไม่คุ้มรายจ่ายเมื่อไหร่ก็เลิก มีคนขอซื้อก็ขาย หรือแม้ไปเสนอขายก็ไม่มีคนซื้อ เพราะต่อไปนี้ฐานสมาชิกจะไม่เพิ่มขึ้น จะมีแต่ลดลงเรื่อยๆ ตามคุณภาพสัญญาณและคุณภาพช่องรายการที่เคเบิลท้องถิ่นมี ที่น่าเป็นห่วงคือเคเบิลรายเล็กที่มีฐานสมาชิกต่ำกว่า 3,000 สมาชิก ยากที่จะอยู่ได้ในระยะยาว แม้ว่าใน 1 – 2 ปีจากนี้ไปพอจะอยู่ได้แต่จะค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ โอกาสขยายฐานสมาชิกมีน้อยมาก หรือถ้าจะลงทุนทำระบบ Digital ยังพอเห็นโอกาสแต่ต้องไม่ลืมว่า การทำระบบ Digital ไม่ใช่ลงทุนห้องส่ง 2 – 10 ล้านบาท แล้วจะพอ ต้องไม่ลืมว่า กล่องรับสัญญาณ Digital (DVB-C) ราคากล่องละ 1,200 บาท อีก 5,000 กล่อง แม้จะเก็บจากสมาชิกได้ แต่การลงทุนในระบบ Digital ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการรักษาฐานสมาชิกเท่านั้น ไม่ใช่ลงทุนเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ดังนั้นการลงทุนทั้งหมดคือ ค่าใช้จ่าย ไม่ใช่การทำเพื่อหารายได้เพิ่มเหมือนในอดีต ดังนั้น จะมีสักกี่รายที่กล้าจะลงทุนในครั้งนี้ โดยเห็นอยู่แล้วว่าเงินทุนที่จะลงไปก้อนนี้จะไม่ได้คืนแน่นอน ซึ่งต่างจากในอดีตที่เคเบิลท้องถิ่นลงทุนเพิ่มเติมทีไร จะมีรายได้เพิ่มเข้ามาทุกครั้ง แต่ครั้งนี้จะต่างออกไป

คำแนะนำ

ห้องส่งระบบ Digital ที่เคเบิลท้องถิ่นกำลังมองในเวลานี้คือ ระบบ DVB-C ราคา 2 – 10 ล้านบาท โดยใช้กล่องรับสัญญาณ SD ราคา 800 บาท หรือกล่อง HD ราคา 1,200 บาท ความจริงการลงทุนทำห้องส่ง Digital บางรายใช้เงินไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ตัวปัญหาใหญ่คือกล่องรับสัญญาณ Digital ที่ต้องติดตั้งให้กับสมาชิก จะแจก จะเก็บมัดจำ หรือจะขาย แล้วเมื่อติดตั้งไปแล้วรับรองว่าเก็บค่าบริการรายเดือนเพิ่มขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน คนที่รวยคือคนขายห้องส่งระบบ Digital และคนที่ขายกล่องรับสัญญาณ DVB-C ซึ่งเคเบิลท้องถิ่นต้องเอาเงินเก็บที่มี มาจ่ายให้กับคนขายของเหล่านี้ หรือไม่ก็ค่อยๆ ผ่อนจ่าย จากเงินที่เก็บได้จากค่าบริการรายเดือน หากเก็บได้ไม่พอก็ไม่จ่าย ปัญหาก็จะตามมาอีกมากมาย ที่สำคัญระบบ Digital ที่ซื้อมา และกล่อง DVB-C ที่ติดตั้งให้สมาชิก เขารับประกัน 1 ปี หลังจากนั้นใครจะเป็นคนจ่าย และอายุการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้ถึง 3 ปีหรือไม่ และเมื่อครบ 3 ปีแล้วจะต้องลงทุนห้องส่ง และกล่อง DVB-C อีกครั้งหรือไม่ เป็นคำถามที่เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กกำลังปวดหัว

ในวิกฤติย่อมมีโอกาส

คงไม่ลืมว่าสมาชิกผู้รับบริการ ของเคเบิลท้องถิ่นทุกรายจะต้องได้รับคูปอง 690 บาท จาก กสทช. เพื่อเป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่อง DVB-T2 และเชื่อว่าต่อไปกล่อง DVB-T2 ระบบ HD จะมีราคาไม่เกิน 500 บาท นี่คือจุดที่ต้องเอามาพิจารณาว่า เคเบิลท้องถิ่นจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างไร เพราะจากข้อกำหนดของ กสทช. ไม่สามารถเอาคูปอง 690 บาทมาใช้เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณ DVB-C ของเคเบิลท้องถิ่นได้ ที่สำคัญ จุดยืนของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยคือ การทำหนังสือยืนยันไปที่ กสทช. ที่จะให้คูปอง 690 บาทใช้ได้กับกล่อง DVB-T2 เท่านั้น ไม่ให้เอาคูปอง 690 บาทของ กสทช. มาใช้กับ กล่อง DVB-C ของเคเบิลทางสาย และ กล่อง DVB-S ของจานดาวเทียม หวยจึงออกมาว่า เคเบิลท้องถิ่นกับจานดาวเทียม อดได้ประโยชน์จากการมีคูปอง 690 บาท ด้วยกันทั้งคู่

เคเบิลท้องถิ่นจะใช้ประโยชน์จากกล่อง DVB-T2 อย่างไร

ความจริงแล้วการทำระบบ Digital ความสำคัญของต้นทุนไม่ได้อยู่ที่การทำระบบห้องส่ง แต่ต้นทุนที่สำคัญอยู่ที่กล่องรับสัญญาณ ดังนั้นการเอากล่อง DVB-T2 มาใช้ประโยชน์ให้ได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นทางรอดของเคเบิลท้องถิ่น เพราะสมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นทุกรายมีคูปอง เพื่อแลกซื้อกล่อง DVB-T2 อยู่แล้ว 1 กล่อง หากจะซื้อเพิ่ม ราคาก็ถูกกว่ากล่อง DVB-C ถึง 1 เท่าตัว (กล่อง DVB-T2 ระบบ HD ราคา 690 บาท/กล่อง กล่อง DVB-C ระบบ HD ราคา 1,200 บาท/กล่อง)

ทำห้องส่ง DVB-T2 คือคำตอบ

ที่กล่าวมานี้ กำลังจะโยงมาที่ เคเบิลท้องถิ่นควรทำห้องส่ง Digital แต่ต้องเป็นห้องส่งที่สามารถนำกล่อง DVB-T2 ของ กสทช. มาใช้ได้ด้วย ไม่ใช่ห้องส่งที่ใช้ได้เฉพาะกล่อง DVB-C อย่างที่ทุกคนเข้าใจ อยากให้ลองคิดดูว่า หากสามารถทำห้องส่ง Digital ที่สามารถใช้ได้ทั้งกล่อง DVB-C และ กล่อง DVB-T2 โดยเอากล่อง Digital ดังกล่าว มาต่อกับสายเคเบิล และสมาชิกไม่ต้องติดตั้งเสาอากาศ และสามารถเพิ่มช่องรายการอื่นๆ ในระบบ Analog ส่งเข้าไปในกล่อง DVB-T2 ทำให้สมาชิกรับช่องรายการได้มากกว่า 48 ช่องของ กสทช. ที่สำคัญคุณภาพช่องเป็นทั้งระบบ SD และ HD ตามที่ได้รับมา เวลาสมาชิกดูเคเบิลท้องถิ่น จะสามารถดูผ่านกล่อง DVB-T2 เพียงกล่องเดียวสามารถดูได้ 200 ช่องคุณภาพชัดเจนทุกช่อง เสียค่าบริการรายเดือนเท่าเดิม (เคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องขายกล่อง DVB-T2 ให้สมาชิกไปหาซื้อเองตามท้องตลาด) ขณะที่คนที่ไม่ติดผ่านสายเคเบิลท้องถิ่นจะดูได้เพียง 48 ช่อง หากทำเช่นนี้ได้ จะเห็นว่าเคเบิลท้องถิ่นจะสามารถตอบโจทก์ทีวีดิจิตอลของ กสทช. ได้ และสามารถให้บริการช่องรายการต่างๆ เพิ่มเติมกับสมาชิกผ่านกล่อง DVB-T2 ได้ ตามความสามารถของเคเบิลแต่ละราย ช่องรายการทุกช่องมีความคมชัดตามมาตรฐาน และเคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องลงทุนกล่องรับสัญญาณ เพียงแต่ลงทุนห้องส่ง DVB-T2 ในราคาประมาณ 2 – 10 ล้านบาท ก็จะสามารถให้บริการในระบบนี้ได้ เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว และ กสทช. ก็จะไม่ว่าอะไร เพราะในอนาคตหากสมาชิกยกเลิกการเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นก็ให้พนักงานไปตัดสาย ส่วนสมาชิกก็ไปหาซื้อเสาก้างปลา เอามาใช้กับกล่อง DVB-T2 ได้เพราะกล่องดังกล่าวเป็นของสมาชิก ไม่ได้เป็นของเคเบิลท้องถิ่น ในเรื่องนี้ไม่ใช่ความฝันแต่มีการทำได้จริงแล้ว มีผู้ประกอบกิจการบางรายได้เริ่มให้บริการติดตั้งกล่อง DVB-T2 ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลทีวีแล้ว ได้ผลดีมาก สัญญาณมีความคมชัดกว่าการติดตั้งจานดาวเทียม และได้ช่องรายการเพิ่มขึ้น มากพอเท่าที่มีเงินลงทุนติดตั้งห้องส่ง เพราะ 1 ความถี่สามารถให้บริการได้มากกว่า 10 ช่องเหมือนระบบ DVB-C

เคเบิลท้องถิ่นที่ร่วมโครงการกับ CTH จะทำอย่างไร

กลุ่มนี้อาจมีปัญหาในเรื่องความถี่ที่จะนำมาให้บริการเพิ่มเติมในระบบ DVB-T2 เพราะต้องเสียความถี่ให้ CTH ถึง 24 ความถี่ สุดท้ายคงต้องตัดสินใจว่า จะให้บริการ CTH ต่อไป หรือจะเอาความถี่ที่ให้ CTH ไป 24 ความถี่คืนมา แล้วเอามาทำห้องส่ง DVB-T2 จะได้ช่องรายการเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ช่อง ที่สำคัญไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 งานนี้คงได้เก็บกล่อง SD และ HD ที่เป็นระบบ DVB-C ของ CTH คืนให้ CTH แต่ไม่รู้ว่า CTH จะเอากล่อง SD และ HD ไปใช้ที่ไหน นอกจากเก็บไว้ในโกดัง รอจำหน่ายทิ้งในอีก 2 ปีข้างหน้า

เคเบิลท้องถิ่นที่ไม่ได้ร่วมโครงการกับ CTH จะทำอย่างไร

กลุ่มนี้ ปัญหาคงไม่มาก เพราะจะมีความถี่เหลือ ซึ่งหากเดิมให้บริการระบบ Digital DVB-C อยู่แล้ว ก็เพียงแต่ซื้อส่วนที่ให้บริการระบบ DVB-T2 เพิ่มเติมเข้ามา ก็จะสามารถให้บริการระบบ DVB-T2 ได้เพิ่มขึ้น ส่วนช่องรายการจะได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการบริหารความถี่ของผู้ประกอบกิจการแต่ละราย

เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ จะทำอย่างไร

จะน่าสงสารก็เฉพาะเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ ที่ไม่มีเงินทุนจะมาลงทุนระบบ Digital ไม่ว่าจะเป็น DVB-C หรือ DVB-T2 เพราะเป็นรายเล็กเกินไป ไม่คุ้มที่จะลงทุน งานนี้คงต้องบอกว่า ก็ให้รักษาฐานสมาชิกเดิมไว้ให้นานที่สุด เมื่อไหร่ที่รายรับไม่พอรายจ่ายก็ค่อยเลิกกิจการ ตราบใดที่ยังคุ้มอยู่ก็ทำต่อไปเรื่อยๆ อย่าลงทุนเพิ่มเติม หรือหากโชคดี มีรายใหญ่ที่ให้บริการอยู่ใกล้ๆ ก็ให้ไปเจรจาขอซื้อสัญญาณระบบ Digital ของเขามาให้บริการกับสมาชิก ทางรอดก็คงพอจะมองเห็นได้ คงต้องพึ่งสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ให้เป็นคนกลางในการเจรจาให้รายใหญ่เอื้อเฟื้อรายเล็ก อย่าถือโอกาสนี้ไปรังแกรายเล็ก หากสามารถเชื่อมต่อสัญญาณกันได้ จะทำให้เคเบิลท้องถิ่นมีจำนวนน้อยลง แต่จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ละโครงข่ายจะมีฐานสมาชิกมากขึ้น การบริหารงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การละเมิดลิขสิทธิ์จะน้อยลง การทำข่าวท้องถิ่นจะสามารถทำได้ดีขึ้น และจะสามารถหารายได้อื่นๆ ทั้งเรื่องโฆษณา และการทำ Internet ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลทีวีได้ด้วย

ในมุมของผู้รับบริการ

สำหรับประชาชนที่ได้คูปอง 690 บาทจาก กสทช. คงต้องใจเย็นๆ เพราะวันนี้ กล่อง DVB-T2 ที่มีอยู่ในท้องตลาดยังไม่มีการแข่งขันกัน ขอให้รอ 2 – 3 เดือน เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตกล่องมีถึง 42 ราย เชื่อว่าจะมีกล่อง DVB-T2 ออกมาจำหน่ายไม่น้อยกว่า 100 รุ่นและราคาจะตัดกันจนเหลือ 690 บาทและเชื่อว่าเมื่อหมดเทศกาลคูปอง ราคาน่าจะลงมาเหลือที่ 500 บาทเพราะคงมี Stock เหลือบาน

กสทช. ต้องป้องกันการทุจริตให้ได้

อยากรู้เหมือนกันว่า ผู้ผลิตกล่อง DVB-T2 จำนวน 42 ราย จะมียอดผลิตกล่อง DVB-T2 จริงๆ รวมกันถึง 10 ล้านกล่องหรือไม่ คงไม่ต้องถามว่ายอดที่แจ้งผลิตเท่าไร หรือยอดที่เบิก Sticker “น้องดูดี” เท่าไหร่ เพราะงานนี้น่าจะมีเงินทอนแน่นอน แต่ใครจะได้ต้องติดตามตอนต่อไป สำหรับ กสทช. 11 คน หรือ กสท. 5 คน ต้องบอกว่าทุกท่านมีความสุจริตในการทำงานแจกคูปอง 690 บาท อย่างแน่นอน และท่านจะทำทุกวิถีทางในการนำกล่อง DVB-T2 ไปไว้ในบ้านประชาชนให้ครบจำนวนที่มาเบิกเงิน และจะหาทางป้องกันไม่ให้มีเงินทอนในรูปแบบต่างๆ แต่เชื่อเถอะ ด้วยฝีมือของนักธุรกิจคนไทย ที่ได้ทำงานร่วมกับข้าราชการแบบไทยๆ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเอกสารจะได้ครบ ตรวจถูกต้อง และเงินจ่ายครบไม่ขาดไม่เกิน win win ด้วยกันทุกฝ่าย งานนี้ กสทช. ต้องพิสูจน์ฝีมือให้ประชาชนได้เห็น

สงวนลิขสิทธิ์ เจริญเคเบิลทีวี พุทธศักราช 2558

ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามคัดลอกรูปภาพหรือข้อความไปใช้แอบอ้างเพื่อการค้า

โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ออกแบบและดูแลโดยฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ

บริษัทเจริญเคเบิลทีวีจำกัด